บริษัทเดอะนิวยอร์ก อิเล็กทริกมิวสิคและเทลฮาร์โมเนี่ยมเครื่องที่สอง

ที่เวิร์กช๊อป

การแสดงครั้งแรกของเทลฮาร์โมเนี่ยมเครื่องใหม่ (เคฮิลล์เรียกเครื่องดนตรีของตัวเองว่าไดนาโมโฟน) ทำการเล่นที่เวิร์กชอปของเขาเอง และส่งสัญญาณออกอากาศไปที่โรงแรมแฮมิลตัน ซึ่งห่างออกไปประมาณครึ่งไมล์ หลังจากนั้น ในปี 1904 เคฮิลล์ทำการส่งสัญญาณจากเมืองของเขา ไปนิวฮาเวน คอนเนกติคัท (New Haven Connecticut) ในปี 1905 ครอสบี้ได้ตั้งบริษัทขึ้นอีกแห่งหนึ่งในนิวยอร์ก (เดอะนิวอิงแลนด์ อิเล็กทริกมิวสิคก่อตั้งที่เมืองนิว เจอร์ซี่) และทำสัญญากับบริษัทโทรศัพท์แห่งนิวยอร์กเพื่อวางสายพิเศษสำหรับการส่งสัญญาณจากเทลฮาร์โมเนี่ยมไปยังจุดต่าง ๆ ในเมือง

โทนวีล 1 ตัว

และในปี 1906 นี่เองที่เทลฮาร์โมเนี่ยมทำการปรับปรุงใหม่ โดยใช้คน 50 คนในครั้งนี้ ใช้เวลา 4 ปีกับเงินอีก $200,000 (เมื่อเกือบร้อยปีที่แล้วนะครับ) มามาดใหม่คราวนี้ มีความยาวถึง 60 ฟุต หนักเกือบ 200 ตันและประกอบไปด้วยสวิตซ์ถึงกว่า 2,000 ตัว ไดนาโมถึง 145 ตัวในการสร้างไฟกระแสสลับทำให้ความแม่นยำของระดับเสียงดีขึ้นและสร้างเสียงได้ 36 โน๊ตต่อออกเตฟ ครอบคลุมความถี่เสียงตั้งแต่ 40-4,000 Hz ในส่วนของเครื่องรับก็มีการปรับปรุงให้รับสัญญาณดีขึ้นกว่ารุ่นก่อน ๆ เพื่อให้เสียงออกมาดังกว่าอีกด้วยครับ สำหรับรุ่นนี้ก็เป็นเครื่องดนตรีที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่มนุษย์ได้ทำการสร้างขึ้นมา และคนมักจะพูดถึงมันว่าเหมือนห้องเครื่องยนต์ของเรือเสียมากกว่า

ในช่วงฤดูร้อนปีเดียวกันนี้เอง เทลฮาร์โมเนี่ยมถูกแยกชิ้นส่วนส่งทางตู้รถไฟถึง 30 โบกี้และส่งไปยังเมืองนิวยอร์ก เพื่อประกอบใหม่อีกครั้งที่อาคารบรอดเวย์ ถนนสาย 39 ในย่านโรงละครของนิวยอร์ก ฝั่งตรงข้ามถนนจะเป็นเมโทรโพลิทั่นโอเปร่าเฮาส์และกาสิโนเธียเตอร์ แต่เพราะว่าการทำงานของเครื่องจักร ไม่ว่าจะเป็นไดนาโมและระบบสวิตชิ่ง มีเสียงดังมาก มันจึงถูกประกอบใหม่ที่ชั้นใต้ดินของอาคาร และส่วนสำหรับคีย์บอร์ด (Performance Console) จะถูกประกอบใหม่ที่มิวสิกฮอลล์ ซึ่งสามารถจะทำการแสดงผ่านลำโพงตามปกตินอกเหนือจากการส่งผ่านสายโทรศัพท์ได้อีกด้วย การเปิดตัวอย่างเป็นทางการคือวันที่ 26 กันยายน 1906 โดยออสการ์ ที. ครอสบี้เป็นผู้กล่าวสุนทรพจน์ และมีการแสดงคอนเสริตด้วยเทลฮาร์โมเนี่ยมสำหรับสาธารณะชน

การแสดงดนตรีนั้นมักจะเล่นด้วยคน 2 คน (4 มือ) เพลงที่เล่นส่วนใหญ่ จะเป็นเพลงระดับตำนานของ Bach, Chopin, Greig, Rossini ฯลฯ ทางบริษัทโม้ว่าเทลฮาร์โมเนียมมีกำลังมากพอที่จะส่งไปยังลูกค้ากว่า 15,000 ถึง 20,000 รายได้ และได้มีการวางแผนที่จะใช้วงจร 4 วงแยกกันสำหรับส่งเพลง 4 เพลงไม่ซ้ำกัน ผ่านแต่ละวงอีกด้วยครับ

ลูกค้ารายแรกของเทลฮาร์โมเนี่ยมเป็นภัตตาคารใหญ่ ตั้งอยู่บนถนนสาย 26 ระหว่าง Fifth Avenue และบรอดเวย์ ชื่อ Café Martin แต่ต่อมาไม่นานก็เกิดปัญหา เพราะลูกค้าบริษัทโทรศัพท์แห่งนิวยอร์กติงว่าเสียงดนตรีเข้ามารบกวนการสนธนาทางโทรศัพท์ แม้ว่าการกระจายเสียงของเทลฮาร์โมเนี่ยมจะใช้สายแยกออกมาต่างหากแล้วก็ตาม แต่ก็ยังวางสายก็ติดกับสายโทรศัพท์อื่น ๆ และด้วยความแรงของสัญญาณจากเทลฮาร์โมเนี่ยมทำให้เกิดการรบกวนกัน ซึ่งบริษัทโทรศัพท์ได้ยื่นคำขาดต่อครอสบี้ว่าจะยกเลิกสายของเทลฮาร์โมเนี่ยม ทำให้ครอสบี้ต้องหาทางในการวางสายเอง

ลูกค้าใหม่ ๆ ก็มีเข้ามาเรื่อย ๆ อาทิ ภัตตาคารชื่อดังหลุยส์ เชอรี่, กาสิโนเธียเตอร์ (อยู่ฝั่งตรงข้ามถนน), พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติแห่งชาติบนถนนสาย 81, โรงแรมนอร์มังดีและโรงแรมวาลดอร์ฟ เอสโตเรียที่แสนหรูหรา รวมไปถึงลูกค้ารวย ๆ ที่ต่อสายเข้าไปยังบ้านอีกด้วย ส่วนผู้แสดงก็ใช้ถึง 4 คนต่อวันเล่นที่เทลฮาร์โมเนี่ยม ฮอลล์ (ที่เดิมแต่ตั้งชื่อใหม่) รวมทั้งต่อลำโพงออกมาสู่ถนน เพื่อให้ผู้ที่เดินผ่านรับฟัง ทั้งยังเคยจัดการแสดงพิเศษให้กับแขกผู้มีเกียรติอย่างวอลเตอร์ แดมรอสช์และเกียโคโม พุชชีนี่ เครื่องเทลฮาร์โมเนี่ยมยังเคยส่งสัญญาณออกอากาศโดยเครื่องส่งวิทยุรุ่นใหม่ของลี เดอ ฟอเรสต์ แต่เนื่องจากการรบกวนจากสัญญาณวิทยุโทรเลข ทำให้สัญญาณดนตรีน้อยกว่าที่ควรจะเป็น และไม่อยากจะพูดถึงกองทัพเรือ ที่บ่นเรื่องสัญญาณวิทยุโดนรบกวนโดยเพลงโหมโรงของ Rossini ด้วย

 

เทลฮาร์โมเนี่ยมตั้งไว้ที่เทลฮาร์โมเนี่ยม ฮอลล์

ครอสบี้ยังทำระบบแฟรนไชส์เพื่อให้บริษัทอื่น ๆ ดำเนินการวางสายของเทลฮาร์โมเนี่ยม และแม้จะได้เงินจากระบบนี้บ้าง รวมเงินจากรายรับอื่น ๆ บริษัทเดอะนิวยอร์กอิเล็กทริกมิวสิกก็ยังมีลูกค้าไม่พอที่จะทำให้ธุรกิจมีกำไร เมื่อครอสบี้ไม่ได้รับเงินสนับสนุนโครงการนี้ (แม้แต่ AT&T ก็ไม่เอาด้วย) เขาจึงทิ้งบริษัทไป ปล่อยให้เฟรดเดอริก ซี. ทอดด์ ดูแลแต่เพียงผู้เดียว และเมื่อเกิดปัญหาด้านการเงินในเวลานั้น (รวมถึงวิกฤติปี 1907) ทำให้ผู้ร่วมลงทุนและลูกค้าต่างก็หนีหายไป ในเดือนกุมภาพันธ์ปี 1908 จึงหยุดการแสดงคอนเสริต และในเดือนพฤษภาคมปีเดียวกันบริษัทก็ไม่เหลือสภาพความเป็นบริษัทอีกต่อไป เครื่องเทลฮาร์โมเนี่ยมก็ถูกปิดไปพร้อม ๆ กับประตูของเทลฮาร์โมเนี่ยม ฮอลล์