Review Logic Pro 8 Digial Audio Workstation ระดับยอดธงจาก Apple
ตีพิมพ์ครั้งแรกโดยวารสาร The Absolute Sound & Stage
นับตั้งแต่ Emagic บริษัทผู้พัฒนาซอฟต์แวร์ดนตรีชื่อดัง “Logic Audio” จากเยอรมัน ถูก Apple Inc. ผู้ให้กำเนิด Macintosh ขวัญใจนักออกแบบและนักดนตรีทั่วโลก “Take Over” ในเดือนกรกฎาคมปี 2002 และ Apple Inc. ต้องใช้เวลาถึง 5 ปี ผ่าน Logic ไปสองเวอร์ชัน แต่งองค์ทรงเครื่องปรับเปลี่ยนหน้าตาใหม่ จนได้ “Logic Pro 8” ในทิศทางที่ Apple ต้องการ ซึ่งรูปแบบใหม่นี้ ผู้เขียนเองได้พูดคุยกับผู้ใช้ Logic ในระดับ “สาวก” หลายท่าน ก็ได้รับความคิดเห็นเดียวกันว่า การเปลี่ยนหน้าตาใหม่หมดนั้น ชวนให้สับสนในตอนแรกอยู่บ้าง แต่หลังจากล้างความเคยชินเก่า ๆ ออกไป ก็จะพบว่าหลายสิ่งหลายอย่างที่ปรับปรุงและเพิ่มเข้ามานั้น ช่วยให้การทำงานเพลงสะดวกขึ้นเยอะเลย บ้างก็ชอบระบบ “Takes Management” ที่เหมาะสำหรับการบันทึกแบบหลายเทคต่อเนื่อง แล้วเราค่อยมาเลือกเทคที่ดีที่สุดกันทีหลัง บ้างก็ชอบอินเตอร์เฟซแบบ “GarageBand” อยู่แล้ว แต่ติดที่ข้อจำกัดหลายด้านของ GarageBand พอได้ Logic Pro 8 มา จึงหลงรักได้อย่างรวดเร็ว แต่นั้นก็ไม่เหมือนกับกรณีของผู้เขียนผู้ไม่เคยเป็นสาวกของ Logic เลยครับ เพราะนับตั้งแต่การบอกเลิก Logic บน Windows จาก Apple ไว้ที่เวอร์ชัน 5.5 นั้น ผู้เขียนก็ไม่เคยหันหลังกลับไปใช้ Logic อีกเลย จนเวอร์ชัน 7 แต่สัมผัสได้เพียงวาบเดียว ก็พบว่ามันอาจไม่เหมาะกับการรูปแบบการทำงานของผู้เขียนเท่า “Ableton Live” ที่ผู้เขียนยกให้เป็นโปรแกรมเดียวทำทุกอย่าง (เปิดเพลง เล่น SFX ทำงานเสียงจนมาสเตอร์) หรือแม้แต่ตระกูล Cubase/Nuendo ที่ใช้งานอย่างจริงจังจนชินไปแล้ว
ระบบ Take Management บันทึกไว้หลาย Take แล้วเลือก Take ที่ดีที่สุด
แต่หลังจากได้ข่าว Logic Pro 8 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของชุด Logic Studio ด้วยความสามารถหลายอย่างในราคาที่โดนใจ ผู้เขียนจึงเปิดใจกับมันอีกครั้งจนมาเป็นบทความรีวิวบทความนี้ครับ ผู้เขียนพยายามเก็บรายละเอียดในแง่มุมต่าง ๆ ที่คิดว่าผู้อ่านสนใจ แต่ทั้งนี้ต้องขอออกตัวว่ามันอาจมีบางอย่างที่ผู้อ่านใส่ใจแต่ผู้เขียนพลาดไปบ้าง อย่างระบบ Notation ที่ผู้เขียนไม่ได้ใช้งานซอฟต์แวร์ประเภทนี้เป็นประจำครับ
เริ่มกันด้วยสงครามราคา
เนื่องจากช่วงปีที่แล้วผู้เขียนมีโอกาสเป็นตัวแทนจำหน่ายซอฟต์แวร์ Logic Pro 7.1-7.2 จึงคุ้นเคยกับราคาของ Logic Pro ดี เพราะจะว่าไปแล้ว มันมีราคาอยู่ที่ประมาณสองหมื่นปลาย ๆ ถึงสามหมื่นต้น ซึ่งเป็นราคาที่สูสีกับซอฟต์แวร์ในกลุ่มเดียวกันอย่าง Cubase ของค่าย Steinberg (Yamaha) แต่มาถึง Logic Pro 8 ทาง Apple กลับเปลี่ยนรูปขบวนใหม่ โดยไม่ได้ขายเพียง Logic 8 แต่รวมเอา Soundtrack Pro 2 ซึ่งเคยมีราคาประมาณหมื่นนิด ๆ Jam Packs 5 ชุด ซึ่งเดิมมีราคาประมาณแผ่นละสี่พัน 5 แผ่นจึงมีราคาเกือบสองหมื่น ยังไม่พูดถึง Mainstage ซอฟต์แวร์ตัวใหม่ล่าสุดที่มีจุดประสงค์คือใช้ในการแสดงสด ก็จัดมาให้ในชุด Logic Studio ซึ่งถ้าเป็นกลไกราคาเก่าแล้ว มันน่าจะมีค่าตัวมากกว่าหกหมื่นบาทได้เลยครับ แต่ Apple กลับเรียกค่าตัวของทั้งชุดนี้ไม่ถึงสองหมื่นบาท ซึ่งถือว่าถูกที่สุด ถ้าเทียบกับ DAW ตัวอื่น ๆ ที่มีความสามารถในระดับเดียวกัน และจุดสำคัญโดยเฉพาะกับคนไทยก็คือการตัดระบบป้องกันละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ที่เคยใช้ออกไป เหลือเพียงแค่การกรอกเลขซีเรียลเท่านั้นก็ใช้งานได้ทันที ซึ่งคนที่มองเกมออกจะเข้าใจได้ทันทีว่า Apple ไม่ได้ใจดีมากกว่าที่หลายคนคิด เพราะนั่นคือความต้องการในการขยายฐานผู้ใช้ Logic ออกไป เพราะไม่ว่าใครคนนั้นจะซื้อ Logic อย่างถูกต้องหรือไม่ก็ตาม เขาคนนั้นจะต้องใช้คอมพิวเตอร์จาก Apple อยู่ดี (ใครแถวนี้บอกว่า “นี่เป็นแผนการครองโลกดนตรีของ Apple” แบบเดียวกับการให้เราใช้ iTunes ฟรี ๆ เพราะต้องการขาย iPod นั่นเอง)
อย่างไรก็ตามครับ ผู้ที่ได้ประโยชน์สูงสุดคือผู้ใช้นั่นเอง มองแค่ตัวเอง ผู้เขียนไม่ลังเลที่จะถอย iMac ตัวใหม่มา ก็เพื่อ Logic Studio แต่เพียงอย่างเดียว เพราะถ้าไม่นับที่ตัวซอฟต์แวร์ บรรดาซาวน์แวร์ที่แถมมามากมาย 1,300 Instruments, Xtreme Analog/Xtreme Digital EXS Instrument Library, 15 True Surround Effect, 2 True Surround Instruments, 1000 Multi-channel SFX ฯลฯ ทั้งหมดนี้เปรียบเหมือนคลังแสงที่จะช่วยให้การทำงาน ทั้งงานเพลง งานโพสต์ ให้สะดวกขึ้นอีกมาก (ถ้าไม่คิดมากว่าเสียงต่าง ๆ เหล่านี้คนอื่น ๆ ก็ใช้กันทั่วโลกนะครับ เพราะส่วนตัวผู้เขียนก็ชอบจับถูกว่าเสียงต่าง ๆ ที่ได้ฟังนั้น มาจากไหน?)
One Screen Interface
อย่างที่หลายท่านทราบกันดีว่า Logic 8 ได้รวมเอาหน้าต่างสำคัญที่ใช้ในการทำงานเข้ามาเป็นหน้าต่างเดียว เพื่อให้การเข้าถึงเป็นไปอย่างง่ายดาย เรื่องนี้พิสูจน์ได้เองเลย เพราะถ้าเทียบกับ Logic Pro 7 ผู้เขียนต้องใช้เวลาเกือบครึ่งชั่วโมงหลังจากเปิดโปรแกรมเป็นครั้งแรก กว่าจะขึ้น Virtual Instrument Track ได้ มาถึง Logic Pro 8 เปิดขึ้นมาครั้งแรก แม้จะเลือกเป็นหน้าโปรเจกต์เปล่า (Empty Project) ผู้เขียนก็รู้ได้ทันทีเลยว่าจะเริ่มทำงานกันอย่างไร เพียงแค่ 5 นาที ผู้เขียนได้แทรคกีตาร์ที่บันทึกเรียบร้อยความยาว 3 นาที และพร้อมจะขึ้นแทรคต่อไปทันที
หรือจะให้ง่ายกว่านั้น ถ้าเราเลือกเทมแพล็ทที่เราต้องการจะใช้ เช่นหากต้องการทำ Orchestration สำหรับประกอบภาพยนตร์ ก็เลือก Compose->Orchestral โปรแกรมจะโหลดเสียงขึ้นแทรคต่าง ๆ พร้อมเอฟเฟกต์ที่เหมาะสมกับเครื่องดนตรีนั้น พร้อมจะให้เราเริ่มงานได้ทันทีเช่นกันครับ
ในเรื่องของ User Interface ผู้เขียนยังชอบการแบ่ง “Screenset” ออกเป็น 9 แบบ เพื่อให้เราเรียกหน้าต่างสำหรับการทำงานได้อย่างรวดเร็วผ่านการคิดปุ่มตัวเลข 1-9 อย่างเช่นเราต้องการอิดิต MIDI อย่างเร็วก็กดปุ่ม “5” ต้องการบาลานซ์ความดังกด “6” หรือทำ Final Mix กด “7” เป็นต้น
ในส่วนของ Toolbar เรายังสามารถเลือกปรับแต่ง (Customize) ได้ แค่เราคลิกขวา (หรือ Control+คลิก) เลือก “Customize Toolbar…” ก็จะมีหน้าต่างป๊อปขึ้นมา ให้เราลากไอคอนที่ใช้ประจำกว่า 40 แบบ มาวางไว้ที่ Toolbar เพื่อเรียกใช้อย่างรวดเร็วได้ในภายหลัง ระบบนี้ทำให้ผู้เขียนนึกถึง Browser อย่าง Firefox ที่ทำแบบเดียวกันได้ราวกับเลียนแบบกันมา ซึ่งก็ถือว่าเป็นการทำวิจัยของทีมพัฒนา ที่เสนอทางเลือกที่ดีที่สุดให้ผู้ใช้อย่างเรา ก็แนะนำให้ใช้กันนะครับ เพราะจะช่วยให้ Workflow ไหลลื่นขึ้นจริง ๆ
ด้านล่างสุดของ GUI คือ Transport Panel ก็ทำ Customize ได้เช่นกันครับ เพียงแต่เราไม่ต้องลากไอคอน แค่เลือกเอาหรือไม่เอา มันก็จะขึ้นมาอยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสม ซึ่งมีตัวเลือกให้เยอะมาก น่าจะถูกใจคนทำงานระดับอาชีพจริง ๆ
เหนือ Transport ขึ้นไปเล็กน้อย จะมี Tabs สำหรับให้เราใช้เปิดหน้าสำหรับทำการอิดิตค่าต่าง ๆ ซึ่งถ้าเทียบกับเวอร์ชันก่อน หน้ามิกเซอร์จะแยกออกมาอิสระ แต่ตอนนี้เราสามารถเปิดพร้อมหน้า Arrangement ได้เลย ผู้เขียนชอบระบบการทำงานแบบนี้มาก เพราะแม้แต่ Ableton Live ที่ใช้ทำงานประจำก็ไม่มี ต้องใช้วิธีสลับไปมาระหว่างหน้า Arrange กับ Mixer เอาครับ
ที่น่าสนใจมากเช่นกันคือระบบ Key Command ที่ Customize ได้หลายชุด เซฟและเรียกใช้ได้เรื่อย ๆ ซึ่งทำให้ Logic Pro 8 นั้นเหมาะกับการทำงานโปรเจกต์ใหญ่ ๆ ที่อาจมีคนคุมงานมากกว่า 1 คน หรือหากเราต้องไปทำงานในสภาพแวดล้อมอื่น ระบบนี้ก็ช่วยได้มากเช่นกัน
ระบบ Track Auto-Zoom ก็เป็นหนึ่งในการใส่ใจด้าน Usability เช่นกันครับ คลิกไปที่ Track ไหน Track นั้นจะขยายใหญ่ขึ้นกว่า Track อื่น ให้เราได้เห็นข้อมูลต่าง ๆ อย่าง Waveform ชัดขึ้น ซึ่งก็คล้าย ๆ เมนูแบบตาปลา (Fish Eye Menu) ที่ Mac User คุ้นเคยกันดี เพียงแต่มันไม่มีเอฟเฟกต์ย่อ-ขยายแบบเนียน ๆ เท่านั้นเอง
และแม้จะเปลี่ยนหน้าตาไปบ้าง แต่สาวก Logic ที่ชอบระบบ “Environment” ก็อุ่นใจได้ เพราะมันยังคงมีอยู่ Power User จะใช้มันปรับเปลี่ยนเซ็ทอัพ Audio/MIDI ได้อย่างที่ต้องการ แม้ว่าการทำงานเพลงหรืองานเสียงทั่ว ๆ ไป ไม่จำเป็นต้องใช้มันก็ตามครับ
Media Manager
ซอฟต์แวร์ DAW หลายตัวนั้น ต่างให้ความสำคัญกับระบบจัดการไฟล์มีเดียมาก เป็นผลเนื่องมาจากขนาดของ Memory ที่มีมาก ไฟล์ก็มีมากตาม Logic Pro 8 ได้วาง Media Manager ไว้ทางด้านขวาของหน้าต่าง Arrange โดยมี Bin Tab สำหรับเข้าถึงไฟล์ในโปรเจกต์ปัจจุบันที่ทำอยู่ Library Tabs จะใช้หาซอฟต์แวร์อินสตรูเมนต์หรือพรีเซตของเอฟเฟกต์และ Channel Strip ฯลฯ ถ้าหาไม่เจอก็มีระบบค้นหา แม้ว่าจะเป็นพรีเซตของ Space Designer ที่ทำไว้ตั้งแต่ปีที่แล้วบน Logic เวอร์ชันก่อน มันก็ยังหาเจอด้วยครับ
Mixer กับ Inspector
ทั้งหน้า Mixer และหน้า Inspector (อยู่ซ้ายมือสุดของหน้า Arrange) นั้น ต่างทำงานเข้าขากันและกันได้อย่างดีมากครับ เราจะเห็น Meter สองชุดวางไว้ที่ด้านล่างของหน้า Inspector มันจะคอยบอกระดับสัญญาณจริง ๆ ของช่องนั้นพร้อมกับคอยฟ้องระดับสัญญาณเอาท์พุทหรือ Auxiliary Channel ที่เราตั้งไว้ เพื่อให้เราเปรียบเทียบกันอย่างรวดเร็ว บน Mixer ก็ยังให้เราสามารถเลือกดูในโหมด “Single” ให้เรามอนิเตอร์เฉพาะช่องนั้น พร้อมเอาท์พุทและ Aux ทั้งหมดที่ช่องนั้นเชื่อมต่ออยู่ แบบเดียวกับฟังก์ชัน Show/Hide Ground บน Pro Tools แต่ของ Logic นี้จะทำโดยอัตโนมัติ ซึ่งจะช่วยให้เราตรวจสอบ Signal Flow ของแต่ละช่องสัญญาณได้อย่างรวดเร็ว ผู้เขียนพบว่าสิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ เหล่านี้มีคุณค่ามากจริง ๆ ในการเปลี่ยนมาใช้ Logic เพราะช่วยให้การทำงานเร็วขึ้น อย่างที่ได้กล่าวไปตั้งแต่ตอนต้นครับ
Surround Capability
จริงอยู่ ถ้าจะบอกว่า Logic ทำ Surround ได้ตั้งนานแล้ว แต่ Logic Pro 8 น่าจะเรียกได้ว่า “เต็มรูปแบบ” กว่า ตั้งแต่การ Import, Record, Bounce ออกเป็น Surround ได้เลย แม้กระทั่ง Bounce ออกเป็น DVD-A ก็ทำได้จาก Logic Pro 8 เช่นกัน หรือหากเราโยนงานไปที่ ซอฟต์แวร์ “Compressor” ก็สามารถ Transcode ไฟล์ออกได้หลายฟอร์แมทเช่น Dolby Digital 5.1 หรือกรณีที่โปรเจกต์เราเป็น Surround แต่ต้องการเอาท์พุทแบบ Stereo ก็สามารถใช้ปลั๊กอินสำหรับทำ Downmix ช่วยให้งานง่ายขึ้นเยอะ
ในระหว่างการบันทึกเสียงแบบ Surround ก็สามารถดูระดับสัญญาณทั้งขาเข้า-ขาออก ผ่านทาง Multichannel Meter ตัว Panner ก็หน้าตางดงามมาก ช่วยเราวางตำแหน่งเสียงในระนาบรอบทิศทางได้สูงสุดถึง 7.1
รายละเอียดอื่น ๆ ที่ประทับใจ
เนื่องจากรายละเอียดมีเยอะมาก ๆ ถึงขนาดเขียนเป็นหนังสือเล่มหนาได้ 1 เล่ม ผู้เขียนขอลิสต์รายละเอียดหลาย ๆ ส่วนที่ประทับใจครับ
- Sample Accurate Editing การทำ Automation ที่ความละเอียด Sample ต่อ Sample เป็นมาตรฐานของ DAW ไปแล้ว และนี่อาจเป็นการส่งผลไปยังมาตรฐานใหม่ของ MIDI ให้สนับสนุนตามได้เสียที
- Time Stretch/Compression งานนี้ไม่ต้องง้อ Ableton Live
- ทำคลิกขวาได้แล้ว ดูเหมือนสาวก Logic จะรอคอยกันมานานมาก แล้วก็สมหวังกันเสียที
- Low Latency Mode การจัดการความหน่วงเป็นสิ่งสำคัญมากที่มักถูกนำมาพูดถึงทีหลังเสมอครับ ตอนนี้ Logic มีความสามารถในการทำ By Pass เอฟเฟกต์บางตัวเมื่อความหน่วงของ Channel Strip แตะถึง Threshold
- Compressor หลากหลายโหมด มีให้เลือกใช้ถึง 6 โหมด เช่น VCA, Opto, FET แต่ละโหมดให้ผลลัพธ์ที่อร่อยมาก ๆ แม่ช้อยท้าให้ชิมครับ
- Delay Designer ผู้เขียนไม่แน่ใจว่าพึ่งมีเข้ามาในเวอร์ชันนี้หรือเปล่า แต่ชอบวิธีการใช้งานมาก ไม่ว่าเราจะ Tap ตำแหน่งเวลา หรือจะเขียนตำแหน่งขึ้นมาเลย นี่น่าจะเป็นต้นแบบให้ผู้ผลิต DAW รายอื่น ๆ จะต้องทำตามบ้าง
ถึงเวลาเปลี่ยนเครื่องมือการทำงานอีกครั้ง
ถือเป็นครั้งแรกที่ผู้เขียนจะเปลี่ยนมาใช้ Logic เป็นเครื่องมือทำงานอย่างเต็มตัว นับตั้งแต่ผ่านตามาตั้งแต่เวอร์ชัน 5 บน Windows เพราะที่ผ่านมาตัวผู้เขียนเองจะวนเวียนอยู่กับ Cubase/Nuendo และ Ableton Live เป็นหลัก นอกจากตัวโปรแกรมแล้ว ก็มี Content มากมายนี่ล่ะครับ ที่ถือเป็นไฮไลท์เช่นกัน เพราะแต่ละเสียงที่จัดมานั้น ตั้งใจทำและคัดสรรมาอย่างดี เต็มเปี่ยมด้วยคุณภาพ บทความรีวิวนี้คงได้แต่ไกด์ไว้คร่าว ๆ มันยังมีการเปลี่ยนแปลงอีกหลายสิ่งที่ไม่ได้กล่าวเอาไว้ ไม่ว่าจะเป็นการปรับปรุง Editor บน EXS mkII ให้ใช้งานง่าย หรือการที่ Ultrabeat เพิ่ม Matrix Sequencer เข้ามา ฯลฯ ก็คงเป็นท่านผู้อ่านเองที่จะต้องลองใช้มันและละเอียดละไมสิ่งประดิษฐ์ชิ้นนี้ด้วยความเต็มใจ คาดว่าผลจากราคาและการเปิดระบบให้ใช้กันอย่างง่าย ๆ น่าจะทำให้มันกลับมาฮิตในหมู่คนทำงานเพลงบ้านเราอีกครั้งหนึ่ง และเข้าถึงคนรุ่นใหม่ นักเรียน นักศึกษามากขึ้น ไม่จำกัดแค่เพียงระดับโปรเหมือนอย่างแต่ก่อนครับ
Estabilizador e Nobreak
02/04/2008 @ 05:33
Hello. This post is likeable, and your blog is very interesting, congratulations :-). I will add in my blogroll =). If possible gives a last there on my blog, it is about the Estabilizador e Nobreak, I hope you enjoy. The address is http://estabilizador-e-nobreak.blogspot.com. A hug.