ตีพิมพ์ครั้งแรกใน The Absolute Sound & Stage

เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่คาดเดาไม่ได้ และความสนุกสนานในการทำงานดนตรี ผู้เขียนพบว่าตนเองได้ทดลองเล่นปลั๊กอิน Real-time Beats Slicing & Manipulating Plug-in แทบทุกตัวที่มีให้ใช้ และน่าแปลกที่นิตยสารต่างประเทศเท่าที่ผ่านตาผู้เขียน ไม่เคยเล่นเรื่องราวในลักษณะนี้เลย (หมายถึงนำมาเปรียบเทียบกันยกทีม) จึงคิดว่าน่าจะรวบรวมเพื่อนำมารีวิวสั้น ๆ สำหรับผู้สนใจเพื่อว่าจะหามาใช้กับงานเพลงของตัวเอง ซึ่งหลายตัวที่ยกมาแนะนำ ณ ที่นี้นั้น เป็นของฟรีครับ เริ่มกันด้วย

Beat Repeat บน Ableton Live

clip_image002

Beat Repeat จะฝังหน้าตาบน Ableton Live เลย Live User ชอบ Non-Live User หมดสิทธิ์!!

Beat Repeat น่าจะเป็นปลั๊กอินสำเร็จรูปเพื่อการนี้ ตัวแรก ๆ เลยครับ เพราะก่อนหน้านี้ หากใครอยากจัดการกับบีทอย่างละเอียด จะใช้การอิดิตด้วยมือ (เมาส์) หรือถ้าใครพอใช้เครื่องมือเขียนโปรแกรมทางเสียงเป็น อย่าง Max/MSP หรือ Reaktor ฯลฯ ก็อาจทำขึ้นมาเล่นเองเป็นการส่วนตัว แต่พอ Beat Repeat ถือกำเนิดเป็นครั้งแรกบน Ableton Live 5 ก็เป็นการเปิดโอกาสให้นักดนตรี ที่ไม่ได้ศึกษาการเขียนโปรแกรม สามารถเล่นของเล่นสนุก ๆ แบบนี้ได้
ข้อจำกัดอย่างแรกของ Beat Repeat คือการที่มันไม่ได้อยู่ในมาตรฐานปลั๊กอินยอดนิยมอย่าง VST-AU ฯลฯ หากแต่เป็นเอฟเฟกต์ตัวหนึ่งบน Ableton Live ทำให้เซียนซอฟต์แวร์ DAW ตัวอื่น หมดสิทธิ์ทันที แต่ข้อจำกัดนี้นั้น ทำให้ Live User พอใจแน่นอน เพราะหมายถึงการที่ GUI ของมันจะฝังลงบนหน้าของ Live เป็น One Windows Interface ไม่ต้องมีหน้าต่างเพิ่มเด้งขึ้นมาต่างหาก ทำให้ใช้ในการเล่นสดด้วย Live สะดวกขึ้นครับ
หน้าที่หลักของ Beat Repeat ก็ทำตามชื่อเลยครับ คือจับสัญญาณอินพุทเข้ามาเพียงช่วงสั้น ๆ เพียงช่วงหนึ่ง แล้วนำมาเล่นซ้ำ ๆ รัว ๆ ซึ่งกระบวนการทั้งหมดนี้ เราสามารถควบคุมได้เอง หรือจะให้โปรแกรมสุ่มให้ก็ได้
วิธีการควบคุมนั้น เราสามารถเรียนรู้ได้ภายในเวลาไม่กี่นาทีครับ เพราะพารามิเตอร์ต่าง ๆ ใช้ชื่อเรียกที่เข้าใจง่าย แถมมีไม่เยอะ แค่ประมาณ 10 กว่าตัวเท่านั้น และหากแค่เราใช้เมาส์ชี้ที่พารามิเตอร์ตัวไหน ก็จะมีคำอธิบายเป็น Balloon Tips ของโปรแกรม Ableton Live ขึ้นมาอธิบายรายละเอียดอีกด้วย (ถ้าเราเปิดใช้ฟังก์ชันนี้นะ View->Info)
เอฟเฟกต์อื่นที่ติดมาด้วยก็มีแค่ตัวเดียวคือ Band Pass Filter ช่วยสร้างรสชาติให้กับเสียงได้นิดหน่อย ระบบ Signal Routing มีมาให้พอดีกับการใช้ คือมีทั้งแบบผสมเข้ากับสัญญาณเดิม หรือจะฟังแต่เสียงที่เล่นซ้ำอย่างเดียวด้วย Insert Mode หรือระบบ Gate สำหรับใช้กับ Return Track
ข้อจำกัดสุดท้ายที่ยังขัดใจผู้เขียนเล็กน้อยคือเรื่องของ Pitch ที่เราไม่สามารถจะ Pitch Up เสียงที่เล่นซ้ำได้ นอกจากแค่ Pitch Down อย่างเดียว โชคยังดีที่พารามิเตอร์ Pitch Decay นั้น ทำให้เราเล่นเสียงได้สนุกมาก
ผู้ผลิต Ableton
ราคา แถมมากับโปรแกรม Ableton Live
Format Ableton Live 5-6
นิยาม ง่าย สนุก ให้ความรู้สึกที่ควบคุมได้ (ปิด Chance = 0% และใช้ปุ่ม Repeat เล่นแทน)

Livecut จาก mdsp @ smartelectronix

clip_image004

อินเตอร์เฟซงาม ๆ กับผลลัพธ์ที่เป็นเอกลักษณ์ แม้ต้องเสียเวลาทำความเข้าใจบ้างนิดหน่อย ก็คุ้มค่าครับ

อีกหนึ่งของฟรีดี ๆ (เอาเข้าจริง ซอฟต์แวร์เกือบทุกตัวที่นำมาแนะนำนั้น ฟรีครับ มีอยู่ตัวเดียวเท่านั้นที่ต้องเสียเงินซื้อ) Livecut มีจุดเริ่มต้นจากนาย Nick Collins ขณะเป็นนักศึกษาปริญญาเอก เค้าได้สร้าง BBCut หรือ Breakbeat Cutting Library สำหรับใช้บนโปรแกรม SuperCollider โดยจะทำการเลียนแบบการตัดบีทของดนตรีแนว Breakbeat และ Drum & Bass แต่เนื่องจากของดี ๆ แบบนี้ ไม่น่าจะอยู่บน Platform เดียว นาย mdsp จากแกงค์ smartelectronix จึงจับ BBCut เพียงบางส่วน มาแปลงร่าง แต่งหน้าทาปากใหม่ เป็นปลั๊กอินแบบ VST และ AU ที่มีหน้าตาอย่างที่เห็นในรูปครับ
และแม้ว่า Livecut จะใช้งานง่ายมาก ๆ แค่ Insert ก็ได้ยินผลลัพธ์จากการทำงานของ Livecut ได้ทันที แต่หากจะใช้งานอย่างเข้าใจแล้ว ต้องเสียเวลานิดหน่อยในการเรียนรู้มันครับ ต้องขอบคุณ mdsp ที่นอกจากจะสละเวลาทำโปรแกรมนี้ขึ้นมาแล้ว ยังลงแรงทำเอกสารการใช้งานให้ด้วย แต่เนื่องจากการทำงานของโปรแกรมมีลักษณะเป็นอัลกอรึทึ่มและเป็นโครงสร้าง ผู้ที่มาจากสายนักดนตรีแท้ ๆ อาจพบว่าตัวเองไม่คุ้นกับการอ่านเอกสารของ Livecut เท่าไร ไม่ใช่ว่าทำเอกสารมาไม่ดีนะครับ แต่เป็นเพราะพื้นฐานของโปรแกรม ทำให้การอธิบายมีลักษณะเป็นโครงสร้างอย่างนั้น ต้องใช้จินตนาการเข้ามาช่วยอีกนิด จึงจะเข้าใจอะไรมากขึ้น

clip_image005
อธิบายอย่างง่าย ๆ ก็คือ Livecut จะมองดนตรีเป็นวลีหรือ Phrase และจะมีส่วน Cut ที่ตัดเสียงเก็บไว้ จากนั้นค่อยจบวลีนั้นด้วยการนำเสียงที่ตัดไว้มาเล่น Roll หรือ Fill ครับ
Livecut มีโหมดการทำงาน 3 โหมดให้เลือกใช้ครับ

· CutProc11 โหมดนี้จะเลียนแบบจังหวะแบบ DnB ที่เราคุ้นเคยกันดี และจะดีมาก หากเราใช้เสียงกลองท่ีมีจังหวะ่เป็น 4/4 หรือแพทเทิร์นแบบ Classic Rock ก็เอามาสร้างความเท่ด้วยโหมดนี้ได้

· WarpCut ชื่อนั้นบ่งบอกอยู่แล้วครับ ว่าโหมดนี้จะเลียนแบบ Fast Cut Roll ที่เป็นเอกลักษณ์ของ Warp Records หรือถ้านึกเสียงไม่ออกก็คิดถึงเพลงของ Aphex Twin ครับ

· SQPusher เป็นความชอบส่วนตัวของ Nick Collins ต่อสไตล์บีทของ Tom Jenkinson จึงพัฒนาโหมดนี้ขึ้นมาเพื่อเลียนแบบสไตล์นั้นครับ

พารามิเตอร์ของ Livecut มีมากในระดับหนึ่ง บางอย่างก็เข้าใจง่าย บางอย่างต้องใช้จินตนาการช่วยเยอะหน่อย เอฟเฟกต์ที่ติดมาด้วยมีแค่ 2 ตัว แต่ช่วยสร้างความสนุกต่อเสียงได้เยอะมาก คือ Bit Crusher  สำหรับกำหนดค่า Bit Depth และ Sample Rate ใหม่  และ Comb Filter ที่เลือกได้สองโหมดระหว่าง Feedback กับ Feedforward
และแม้ว่าผลลัพธ์จะออกมาสนุกมาก ๆ และมีเอกลักษณ์พิเศษตามแต่ละโหมดที่เลือกใช้ แต่เราจะพบว่าเราไม่สามารถควบคุมผลลัพธ์ได้ เพราะมันใช้แนวคิดการสุ่มและความน่าจะเป็นมาควบคุม พารามิเตอร์ต่าง ๆ จะ ช่วยเรากำหนดทิศทางของเสียงได้บ้างเท่านั้น การนำไปใช้เล่นสดนั้น เราจึงไม่อาจ Expression ได้ในส่วนนี้ครับ
อย่างไรก็ตามถ้าไม่นับเรื่องควบคุมการ Cut & Roll พารามิเตอร์และเอฟเฟกต์ก็มากพอให้เราสร้างความหลากหลายให้กับเสียงครับ
และถ้าเราเห็นว่ามันฟรี มันก็คุ้มค่าที่จะดาวน์โหลดมาเล่นกับโปรเจกต์ของเรา โดยเฉพาะในยามที่ไอเดียตีบตันครับ สนุกมากจริง ๆ
ผู้ผลิต mdsp
ราคา ฟรี ชอบใจบริจาคได้
Format VST 2.4 (Windows, Mac OSX UB) และ AU
นิยาม ใช้ง่ายแต่ควบคุมยาก เสียงมีเอกลักษณ์พิเศษ

SupaTrigga ของ Bram @ Smartelectronix

clip_image007

clip_image009

SupaTrigga เวอร์ชัน VST จะใช้อินเตอร์เฟสของโปรแกรมโฮสต์เลยครับ หน้าตาบน Ableton Live (ภาพบน) ก็อาจแตกต่างจากบน Cubase (ภาพล่าง) จนเราอาจรู้สึกได้ว่าเป็นคนละโปรแกรม

ยังคงวนเวียนอยู่กับแกงค์ Smarteletronix เช่นเคยครับ แต่เปลี่ยนจาก mdsp มาเป็น Bram de Jong ผู้ซึ่งปัจจุบันเป็นทีมงานหลักของเว็บทำเพลงออนไลน์ 2.0 อย่าง Splicemusic.com และเว็บแชร์เสียงอย่าง Freesound Project ที่เคยแนะนำไว้นั่นเองครับ เราลองมาเล่นปลั๊กอิน Beat Slicing ของเค้าที่ชื่อว่า SupaTrigga กันครับ
ดูจากหน้าตาแล้วคงพอเข้าใจว่ามันใช้งานง่ายแค่ไหนนะครับ ตัว GUI นั้นเรียบง่ายมากจนไม่มีอะไร ถ้าเป็น VST จะใช้หน้าตาตามโฮสต์เลย พารามิเตอร์ก็มีไม่มาก แต่จะเห็นว่าเราสามารถควบคุมการเล่น โดยเฉพาะการนำไปเล่นสด เพราะมันมีปุ่ม Instant Repeat, Instant Reverse, Instant Slow ซึ่งทั้่งหมดนี้คือหัวใจสำคัญของ SupaTrigga นั่นเอง ในโหมดปกติ หากเราไม่ใช้ปุ่ม Instant เพื่อควบคุมเอฟเฟกต์แล้ว การทำงานหลักจะใช้ความน่าจะเป็นในการสุ่มการทำงานเหมือนกับโปรแกรมอื่น ๆ แต่เพราะความเรียบง่ายของมัน จึงไม่ได้ติดเอฟเฟกต์พ่วงมาให้แม้แต่ Filter หรือแม้แต่การ Pitch Up/Down ก็ทำไม่ได้นอกจากการเล่นบีทซ้ำ ๆ ที่ Pitch เดิม ซึ่งทั้งหมดนี้เราสามารถเสริมจุดด้อยของมันเองได้ โดยการพ่วงเอฟเฟกต์ที่เราต้องการใช้เข้าไปต่อ Signal Chain จาก SupaTrigga ถ้าเป็น Ableton Live แนะนำ Auto Filter กับ Grain Delay ครับ
ด้วยความที่มันฟรีและเรียบง่าย แถมยังควบคุมได้ แม้หน้าตาของมันจะธรรมดาซักแค่ไหน ก็ไม่อาจหยุดไม่ให้ผู้เขียนใช้งานมันได้จริงๆ
ผู้ผลิต Bram de Jong
ราคา ฟรี ชอบใจบริจาคได้
Format VST (Windows) -AU (Universal Binary)
นิยาม หน้าตาธรรมดา แต่เรียบง่าย และควบคุมได้

Glitch VST by dblue

clip_image011
การออกแบบอินเตอร์เฟซที่คิดมาอย่างดีแล้ว ทำให้พารามิเตอร์ที่มากมาย ดูเหมือนน้อยนิด และผลลัพธ์ที่ได้จาก Glitch นั้นก็ดีมากจริง ๆ

ผู้เขียนเคยแนะนำ Glitch VST ไว้ ตั้งแต่ยังเป็นเวอร์ชันเสียเงิน จนปล่อยให้ใช้กันฟรี ๆ จนวันนี้ Glitch VST ได้พัฒนามาเป็น 1.3 และมีดีมากพอที่จะใช้มันเพียงตัวเดียวก็แทนทุกตัวที่แนะนำในนี้ได้ เพราะมันไม่ได้ทำหน้าที่หั่นเสียงแล้วนำมา Retrigger แต่เพียงอย่างเดียว หากแต่เรานำเสียงที่หั่นนั้น มาแต้มเอฟเฟกต์ได้อีกเป็นกระตักถึง 9 ตัว ที่แต่ละตัวจะพ่วง Resonant Filter ของใครของมัน พร้อมมาสเตอร์ฟิลเตอร์แยกต่างหาก เอฟเฟกต์แต่ละตัวต่างก็มีพารามิเตอร์ที่จำเป็น ไม่มากไปจนเล่นไม่ถูก หรือน้อยไปจนเล่นไม่สนุก ระบบการ Apply เอฟเฟกต์ก็เข้าใจง่ายมาก ๆ โดยเฉพาะการที่มันมี Step Sequencer ทำให้เรามองเห็นได้ชัดเจนว่ากำลังใช้งานเอฟเฟกต์ตัวไหนอยู่ แล้วยังให้ความรู้่สึกที่ควบคุมได้ ไม่ว่าจะนำไปใช้เล่นสด (สนับสนุน MIDI Learn) หรือเขียนออโตเมชั่นในงานเพลงได้ง่าย แม้จะมีพารามิเตอร์ต่าง ๆ มากมาย
ระบบการสุ่มและความน่าจะเป็นยังจำเป็นเสมอสำหรับเอฟเฟกต์ประเภทนี้ครับ ทั้งยังมีปุ่ม Random Effect และ Random Step มาให้เรากดเล่น ในกรณีที่ไอเดียตืบตันอีก แต่โดยส่วนตัวแล้ว พบว่าผลลัพธ์จากการสุ่มในส่วนนี้ ยังไม่ค่อยดีเท่ากับการ Random Effect บน Step Sequencer (สัญลักษณ์ตัว R สีเทา) ที่ให้ผลลัพธ์ที่สุดจะคาดเดา แต่ดีมาก ๆ ครับ
นอกจากนี้ยังมีรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่เอฟเฟกต์ตัวอื่น ๆ ส่วนใหญ่ มองข้ามไป นั่นคือระบบ Balloon Tips ที่ช่วยให้การใช้งานเอฟเฟกต์ที่ดูเหมือนซับซ้อนตัวนี้ ง่ายขึ้นอีกมาก
แต่สุดท้ายก็ยังมีข้อจำกัดอยู่บ้าง ในเรื่องของฟอร์แมทที่สนับสนุนครับ คือมันมีเพียง VST 2.3 บน Windows เท่านั้น ชาว Mac หมดสิทธิ์ทันที โดยไม่มีแนวโน้มว่าจะข้ามแพลทฟอร์มมาด้วย ขณะที่ตัวอื่น ๆ ที่ยกมาเปรียบมวยในรุ่นเดียวกันนี้ ต่างก็มีบน Mac ทั้งหมด ที่เหลือก็ยังเป็นข้อจำกัดเล็ก ๆ น้อย ๆ เมื่อใช้กับโฮสต์บางตัวอย่าง Sony Acid Pro 4-5 ที่เราต้องปิดฟังก์ชัน Transpot ทิ้งไป หรือบน MadTracker 2 นั้น เรื่องไทมิ่งอาจไม่แม่นยำได้ 100% เหมือนตัวอื่น หรือบน Cakewalk Sonar 4 เมื่อต้องใช้งานผ่าน Adaptor มันจะทำงานเป็น DXi ไม่ใช่ Insert Effect ครับ แต่ทั้งหมดนี้ เราสามารถให้อภัยได้ทันที เพราะมันฟรีและดีขนาดนี้ ผู้่เขียนขอแนะนำให้ดาวน์โหลดกันมาใช้กันอย่างถ้วนหน้าตาม URL ด้านล่างนี้ได้เลย แต่ทางผู้ผลิตก็ออกมาเตือนว่า Glitch นั้น ไม่ได้ออกแบบมาเพื่อนักดนตรีจอมเกียจคร้าน แต่ให้ใช้เพื่อสนับสนับการสร้างสรรค์งานให้ละเอียดละไมขึ้น ดังนั้นหากใช้แล้ว ไม่มีใครจับได้มาว่าเสียงนั้นมาจาก Glitch ก็แสดงว่าเราได้ใช้อย่างถูกทางแล้วล่ะครับ
ผู้ผลิต dblue
ราคา ฟรี
Format VST 2.3 on Windows
นิยาม ตัวเดียวอยู่!!

REPLICANT จาก Audio Damage

clip_image012

การควบคุมการทำงานผ่าน Trigger Ring และ Opportunity Slider นั้นดูเหมือนง่าย แต่เข้าใจยากชะมัด

หนึ่งเดียวที่ในชุดนี้ที่ไม่ฟรี เพราะมีค่าตัวถึง $49 อย่างไรก็ตามครับ เราเองก็เข้าใจกันดีว่ามีนักพัฒนาบางกลุ่ม พัฒนาซอฟต์แวร์เป็นอาชีพจริง ๆ และ Audio Damage ผู้ผลิตซอฟต์แวร์แนว ๆ ก็เป็นหนึ่งในนั้น ซึ่งจะว่าไปแล้ว ผลผลิตของค่ายนี้นั้นดีและไม่แพงอยู่แล้ว เพื่อเทียบกับผู้ผลิตรายใหญ่ Audio Damage เป็นค่ายซอฟต์แวร์ดนตรีอินดี้ ที่มีพนักงานเพียงสองคนเท่านั้น หนึ่งคนสำหรับเขียนโปรแกรม DSP อีกหนึ่งคนสำหรับออกแบบ GUI และวางแนวคิดของโปรแกรม และแม้ว่าทาง Audio Damage จะอธิบายที่มาที่ไปของ REPLICANT ว่ามันทำมาให้ใช้งานง่ายและเข้าใจง่ายที่สุด โดยนำไปเทียบกับ Beat Repeat ของ Ableton Live ว่าเหมาะกับคนเยอรมันที่มีคณิตศาสตร์อยู่ในหัวใจเท่านั้น

แต่พอผู้เขียนลองใช้เข้าจริง ๆ กลับพบว่าระบบของ REPLICANT นั้นเข้าใจยากกว่าตัวอื่น ๆ ในครั้งแรกที่เล่น แม้ว่าจะค่อนข้างประทับใจกับพรีเซตต่าง ๆ ที่แสดงศักยภาพของโปรแกรมให้เห็นเท่านั้น และการที่มันไม่มี Balloon Tips ทำให้ผู้เขียนต้องดาวน์โหลดคู่มือมาอ่านพร้อมกับทดลองเล่นไปด้วยถึงเกือบชั่วโมง เป็นชั่วโมงที่ต้องใช้สมาธิสูงมาก ๆ เพราะว่ามันต้องจินตนาการเชื่อมโยงและสร้างภาพกระบวนการทำงานในหัว จึงเข้าใจ REPLICANT อย่างกระจ่างแจ้งครับ

โดยเฉพาะแค่ระบบ Trigger Ring และ Opportunity Sliders (ที่เห็นเป็นวงกลมอยู่ตรงกลาง) ที่ดูเหมือนเข้าใจง่าย แต่พอมาเรียนรู้จริง ๆ แล้ว กลับไม่ง่ายอย่างที่คิดครับ ต้องใช้เวลาทำความเข้าใจบ้างนิดหน่อย เพราะมันไปเชื่อมโยงกับพารามิเตอร์อื่น ๆ หลายตัว ซึ่งจะว่าไปแล้ว เวลาที่ใช้ในการเรียนรู้ในส่วนนี้ก็ไม่มากเท่าไร แต่เมื่อเทียบกับตัวอื่น ๆ ในลิสต์แล้ว ผู้เขียนสามารถเข้าใจการใช้งานตัวอื่น ๆ ได้แทบจะทันที ไม่ต้องเสียเวลาแม้แต่นิดเดียวเหมือน REPLICANT ไม่แน่ว่าในส่วนนี้ ท่านผู้อ่านมาลองใช้ ก็อาจเข้าใจมันได้ง่าย ๆ ก็เป็นได้ครับ แต่อย่างไรก็ตาม หลังจากที่เข้าใจกระบวนการต่าง ๆ แล้ว การเล่นกับ REPLICANT สนุก ๆ มาก เพราะได้ผลลัพธ์ที่หลากหลายมาก ๆ เมื่อเทียบกับเอฟเฟกต์ประเภทเดียวกันอย่าง Beat Repeat หรือ SupaTrigga ทั้งยังเหมาะในการใช้สร้างความเปลี่ยนแปลงทางเสียงเล็ก ๆ น้อย ๆ ไปจนถึงเปลี่ยนเสียงใหม่ไปเลยก็ยังได้ด้วย

REPLICANT ยังติดเอฟเฟกต์สามตัวคือ Filters, Panner, Bit Reducer รวมไปถึงการคุมทิศทางเดินหน้าถอยหลังด้วย Direction Controls ทั้งหมดนี้คือหัวใจที่เสริมให้ REPLICANT สร้างเสียงได้หลากหลายอย่างที่ได้เรียนท่านผู้อ่านไว้ในย่อหน้าที่แล้ว

ระบบ Audio Routing นั้น ยืมจาก Beat Repeat มาเลย เพราะมีโหมดการทำงานเหมือนกันทุกอย่าง ต่างเพียงแค่ชื่อเรียกเท่านั้น และหากเราใช้เวอร์ชัน VST ยังมีโหมด MIDI Learn ซ่อนอยู่ด้วย (กด Ctrl+Shift หรือ CMD+Shift ค้างไว้ แล้วคลิกที่ปุ่มต่าง ๆ ของ REPLICANT) ช่วยให้ง่ายในการควบคุมผ่าน Control Surface ส่วนถ้าใช้เวอร์ชัน AU ให้เรากำหนดค่าต่าง ๆ ในส่วนนี้ผ่านโฮสต์ได้เลยครับ

แม้ว่ามันจะไม่ฟรี แถมยังไม่มีเวอร์ชันทดลอง แต่ทาง Audio Damage ก็ยังแสดงความจริงใจด้วยการรับประกันความพอใจ คืนเงินใน 30 วันโดยไม่มีข้อแม้ใด ๆ ด้วย ดังนั้นหากต้องการความหลากหลายจากเอฟเฟกต์ประเภทนี้ ก็ลองหยิบบัตรเครดิต มาลองดูซักตั้งได้

ผู้ผลิต Audio Damage http://www.audiodamage.com

ราคา $49

Format VST-AU (Windows-UB)

นิยาม ฉันอาจมีราคา และเข้าใจยาก แต่ถ้าเข้าใจแล้ว คุณจะรู้ว่าฉันมีอะไรดีมากกว่าที่คิด