เขียนโดย PHz
ตีพิมพ์ครั้งแรก Commusic
REAKTOR 5 ออกมาตอนกลางปี 2005 ถึงวันนี้แล้ว แม้เรายังไม่เห็นพัฒนาแบบกระโดดข้ามเวอร์ชันของมัน แต่ชุมชนคนรัก Reaktor ก็ยังแกร่งพอที่จะมี Ensemble ใหม่ๆออกมาตลอด และก็ยอมรับว่าผู้เขียนหมดหนทางที่จะจัดสรรเวลาเพื่อทดลอง Ensemble ใหม่ๆครับ รวมไปถึงการที่ NI ผู้สร้าง Reaktor นั้นหันไปโปรโมท Kore Soundpack ที่ผู้เขียนเห็นว่ามีประโยชน์ในแง่ที่ใช้งานง่ายและนำมาเล่นได้เร็ว สนุกทันที ก็เลยลดการทดลองบน Reaktor ลงไปบ้าง กระนั้นก็ดี ผู้เขียนเห็นว่ามีน้องเล็กของ NI อีกหนึ่งตัวที่แอบใช้มาตลอด แต่ยังไม่ได้นำมาแนะนำกันในที่นี้ นั่นคือ NI MASSIVE ครับ (คนละตัวกับ Massive ที่เป็น Ens บน Reaktor 5 นะ) มันเป็นผลิตภัณฑ์แยกที่ออกมาปลายปี 2006 เป็นซินธ์ที่ในวันนั้นถือว่าออกมาเทียบรัศมีกับ u-he Zebra ที่ทำท่าว่าจะมาแรงมากๆ NI ที่เป็นเจ้าตลาดอีกราย จึงไม่ยอมแพ้ต้องทำออกมาแข่ง แนวคิดที่สำคัญของซินธ์ในยุคนี้ คือเพิ่มความสามารถให้กับแต่ละยูนิต เช่น Oscillator จะ Advance ในระดับที่ใส่เวฟฟอร์มอะไรก็ได้ และทำ Oversampling 3-4 เท่าของปกติ เพื่อให้เสียงที่เต็มสุดๆโดยไม่มีอาการ Aliasing ตัว Filter ก็ต้องเป็นแบบ Multimode ที่มีชนิดให้เลือกเกินกว่าที่คนธรรมดาจะคิดถึง ตัว Envelope ก็ต้องละเอียดยิบ ไม่ใช่แค่ ADSR แต่ให้เราวาดกราฟได้เอง จะเป็น ADADSADSR หรือมากกว่านี้ ก็ว่ากันไป หมัดเด็ดอีกอย่างของซินธ์ใน พ.ศ. นี้คือระบบ Modulation ที่ต้องบอกว่า ไม่มีอะไรที่เรา Mod ไม่ได้กับซินธ์ตัวนี้
แต่เนื่องจากการที่มันออกมาระยะหนึ่งแล้ว คู่แข่งในวงการต่างก็ปรับตัวกันจนสูสีกันแล้ว ซินธ์ในรุ่นเดียวกันที่พอฟัดพอเหวี่ยงกันได้ในยุคนี้ นอกจากสองตัวนี้ก็ยังมี Thor ของ Reason, Circle ของ Future Audio Workshop ผู้ผลิตน้องใหม่ และ OMNISPERE จากขาใหญ่อย่าง Spectrasonics ใครไม่โปร NI อยากลองใช้ของค่ายอื่นดู ก็แนะนำรายชื่อเหล่านี้ครับ เจ๋งๆเด็ดๆสะใจทุกตัว
เอาล่ะบรรยายมากกว่านี้ก็กะไรอยู่ เพราะเข้าใจว่าผู้อ่านไม่มากก็น้อยได้ทดลองใช้ ผ่านตาหรือแม้แต่สร้างสรรค์งานเพลงด้วย MASSIVE กันไปบ้างแล้ว ผู้เขียนขอนำท่านผู้อ่านไปดูรายละเอียดที่น่าสนใจของ Synth ตัวนี้กันเลยครับ
เริ่มกันที่ Browser ก่อน เพราะมันจะเป็นส่วนแรก ที่เราจะใข้มัน Browser ที่ก้าวหน้าในระดับที่ใส่ Attribute ให้กับเสียงแบบนี้ GarageBand เป็นคนทำให้มันเป็นที่รู้จัก NI เป็นผู้ผลิตรายแรกๆที่นำมาใส่ Synth ในตระกูลช่วงปี 2006 แต่วันนี้มันกลายเป็นสิ่งที่ซินธ์รุ่นใหม่ต้องมีกันแล้วครับ ข้อดีของการใช้ผลิตภัณฑ์ของ NI หลายๆตัว ก็คือการที่มันใช้ฟอร์แมทในการเก็บเสียงเดียวกันคือ KORE Sound ทำให้เรานำเสียงเหล่านี้ไปใช้บน KORE ได้เลยทันที
จุดต่อมาเป็นไฮไลท์ของ MASSIVE คือระบบของ Oscillator ครับ มองข้าม “Wave Scanning Algorithm” ไป เราจะเห็นว่าแท้จริงแล้ว มันมีการให้รายละเอียดของ Oscillator โดยให้เราคิดว่า Osc แต่ละตัวจะทำงานเหมือนเป็น Multitrack Sequencer ที่แต่ละแทรคจะเก็บเวฟฟอร์มที่แตกต่างกัน และเราสามารถที่จะจัดการให้มันเฟดไปมาระหว่างแทรคในแนวดิ่ง ส่วนในแนวราบหรือแกนเวลานั้น เราก็ยังสามารถควบคุมผ่าน Blending Mode อีก 3 โหมด ความเป็นมัลติแทรคของ Osc นั้น ยังไม่จำกัด นั่นหมายความว่าเราสามารถ Layer เวฟฟอร์มเท่าไรก็ได้ เข้าไปให้ Osc แต่ละตัว และยิ่งมากก็หมายถึง CPU ที่ถูกใช้ไปด้วย แต่นั่นอาจเป็นเรื่องเล็ก หลังจากที่เราได้ยินเสียงอร่อยๆของมัน
จากภาพ OSC1 ที่ยกมา เราจะเห็นว่ามีการลดทอนให้เหลือพารามิเตอร์สำคัญของแต่ละ OSC ให้เหลือเพียงแค่ 3 ปุ่มหมุน แต่ปุ่มที่มีบทบาทสำคัญมากๆคือ Wt (Wavetable)-Position กับ Intensity ซึ่งแตะนิดเดียวเสียงจะเปลี่ยนคาแรกเตอร์ไปเลยทันที และอย่างที่เรียนในตอนต้นว่า ทุกปุ่มตรงนี้สามารถ Modulate ได้ครับ สีสันที่เราเห็นไม่ว่าจะเป็นตัวเลขหรือเส้นรอบวงที่ไม่เต็มเสี้ยว เป็น Color Coded ที่เราสามารถเอาสีเหล่านั้นไปหาที่มาของตัว Mod ได้อย่างง่ายดาย
เวฟเทเบิ้ล 86 ตัวเลือกใช้ได้อย่างจุใจ!!
MASSIVE ยังมี Modulation Osc เพื่อใช้เป็นแหล่ง Mod ตัว Osc ด้วยกันเองอีกด้วย เราสามารถทำ Ring Mod (เสียงออกแนวโลหะ) Phase Mod (เสียงคล้าย FM) หรือแต่ Mod พารามิเตอร์ Position ด้านล่างถัดไปจาก Mod Osc ยังมีส่วนที่เป็น Noise Generator ซึ่งเราสามารถใช้เป็นอีกหนึ่งแหล่งเสียงเหมือนซินธ์ทั่วไป แต่เนื่องจากระบบฟิลเตอร์ที่หลากหลายมาก ทำให้เราสามารถนำ Noise มาใช้คู่กับ Comb Filter เพื่อทดลองสร้างเสียงด้วย Physical Model ได้
พูดถึงตัว Filter ก็ต้องบอกว่ามันมีตัวเลือกให้มากกว่าบรรดาฮาร์ดแวร์ซินธ์เกือบทั้งหมดกว่า 12 ชนิด แม้แต่ Vowel Filter ที่ทาง NI ใช้คำว่า Scream แทน ก็ยังมี
มองข้ามชุดเอฟเฟกต์ไป เพราะไม่ได้มีอะไรตื่นเต้นหวือหวา เราลองมาดูส่วนที่เปิดให้เราจัดการ Signal Flow ครับ การแสดงแผนภาพแบบนี้ช่วยให้กระบวนการสร้างเสียงออกแบบเสียงของเราชัดเจนขึ้นมาก เราสามารถเปลี่ยนตำแหน่งของ Insert Effect 2 ตัว ไว้ตรงไหนก็ได้ของ Signal Flow เรายังสามารถดึงสัญญาณที่จุดหนึ่งให้กลับไปยังจุดเริ่มต้น เช่นป้อนสัญญารที่ผ่าน Filter ใส่ Insert Effect แล้วป้อนกลับเข้ามายัง Filter ใหม่เพื่อทดลองทำ Karplus-Strong Algorithm หรือจะส่งเสียงจาก Osc ออกไปยังเอาท์พุทของซินธ์ได้เลย โดยไม่ต้องผ่านฟิลเตอร์และเอฟเฟกต์ ลองนำวิธีการนี้ไปใช้เพิ่ม Sub Bass ดูครับ
แต่จุดที่เป็นไม้เด็ดของซินธ์ยุคใหม่คือระบบ Modulation นี่ล่ะครับ เริ่มจากโหมดการทำงานที่สามารถ Loop ได้ เราสามารถที่จะตั้งให้ช่วงใดช่วงหนึ่งเป็นช่วงของการวนลูป สามารถกำหนดให้มีการ Morph หรือทำ Crossfade ระหว่างช่วง Transition หรือแม้แต่ Hold Mode ที่กำหนดให้ผู้เล่นกดคีย์เพียงครั้งเดียว โน้ตจะค้างให้เอง หรือโหมด Step Sequnecer อย่างในรูป จะช่วยให้เราสร้างเสียงแบบ Rhythmic สุดมันได้ คิดถึงการที่เราใช้ MASSIVE เป็น GroovBox ด้วยซีเควนเซอร์ที่ให้เราเห็นความสัมพันธ์ของ Amplitude และ Pitch อย่างชัดเจน
และส่วนควบคุมสุดท้ายที่ไม่พูดถึงไม่ได้ นั่นคือ Macro Control เราสามารถใช้มันทำการ Mod พารามิเตอร์อะไรก็ได้ Control ทั้ง 8 ตัวนี้จะถูกใช้เป็นพารามิเตอร์หลักใน Koresound ด้วยครับ ใครใช้ Kore อยู่ก็จะสะดวกสบายในการเลือกเสียงพวกนี้ขึ้นมาใช้ทำ Layer เป็น Multi-Instrument ร่วมกับซินธ์และเอฟเฟกต์อื่นๆได้อีกเยอะเลย
ยังมีส่วนที่อาจไม่สำคัญมาก แต่เป็นรายละเอียดที่น่าสนใจ นั่นคือ MASSIVE สามารถจัดการ Keytracking ได้ คือเราสามารถที่จะเปลี่ยน Pitch ที่รับมาจาก MIDI Keyboard หรือ Sequencer ให้มีโครงสร้าง Velocity-Pitch ใหม่ เพื่อให้เราเล่นกับ OSC หรือ Filter ในบทบาทที่เราต้องการ อย่างเช่นเราให้ OSC 1 ทำงานตามปกติ ส่วน OSC 2 ให้เล่นความถี่เดิมไม่ว่าเราจะเล่นโน้ตไหนก็ตาม ส่วน OSC 3 จะเล่น Pitch สูง หากเราเล่นโน้ตต่ำ และเล่น Pitch ต่ำ หากเราเล่นโน้ตสูง ฯลฯ จะเห็นว่าเป็นความละเอียดที่ช่วยให้การเล่นหรือการออกแบบเสียงของเรายืดหยุ่นขึ้น
ถึงตรงนี้แล้วก็คิดว่าท่านผู้อ่านที่ครอบครองหรือกำลังจะครอบครองซินธ์ตัวเล็กเสียงใหญ่ตัวนี้ สนุกกับมันมากขึ้น
ตัวอย่างงานที่ใช้ Massive