Mini Review – iMaschine

อาจเพราะติดกับดัก The Innovator’s Dilemma หรือต้องการโฟกัสกับธุรกิจหลักที่ทำอยู่ก็ตาม แต่ผลที่เราเห็นชัดคือการที่กว่า iMaschine เพิ่งจะออกสู่ตลาด iOS ก็ใช้เวลาถึง 4 ปี ทั้งๆ ที่ NI เป็นหัวหอกในการทำซอฟต์แวร์ดนตรีบน Mac และ Windows มาตั้งแต่เริ่มแรก หรือพูดให้ชัดก็คือการที่พวกเขาเห็นศักยภาพของการใช้คอมพิวเตอร์ตามบ้านมาสังเคราะห์และโปรเซสเสียงก่อนใครๆ ในยุคตกผลึกของ PC

อย่างไรก็ตามครับ แม้จะมาช้าแต่ก็มาโดยมีแผนการตลาดชัดเจน มีแนวทางการออกผลิตภัณฑ์ที่น่าสนใจและเข้าใจได้ง่าย โดยดัน Maschine เครื่องดนตรีในฐานะแพลตฟอร์มเพื่อดึงผู้ใช้ใหม่เข้ามาในระบบ กับราคาที่แทบไม่ต้องคิดมาก ($5 ประมาณ 155 บาท) ทั้งยังพอทำกำไรได้อีกต่อจากการขายซาวด์แวร์ในราคาถูกมากๆ คือ $1-3 หรือประมาณ 31-93 บาท ซึ่งโดยปกติราคาซาวด์แวร์ของ NI จะอยู่ที่ $59 (หรือประมาณ 1800 บาทเลยทีเดียวครับ) ซึ่งถ้าหากใครมี Mobile Life Style ที่เคลื่อนที่ ไม่เคยหยุดนิ่งแล้ว เครื่องดนตรีบนมือถือแบบนี้ อาจกลายเป็นสิ่งที่เราใช้กันบ่อยที่สุดโดยมีค่าใช้จ่ายน้อยที่สุด (ไม่นับราคาของฮาร์ดแวร์มือถือ) เลยก็เป็นได้

ลองใช้งานจริง

iMaschine เป็นเครื่องดนตรีแบบ 4 แทรคภายใต้แนวคิดว่าเน้นไปที่ Groove Production แต่เนื่องจากมีข้อจำกัดบางอย่างทาง NI จึงนิยามให้ดูเท่ๆ ว่า “The Groove Skatchpad” คือเราอาจร่างบีทได้ก่อน แล้วนำไปทำต่ออย่างละเอียดบน Maschine บนเครื่องคอมพิวเตอร์หรือจะทำให้จบในตัวก็ได้โดยผลลัพธ์จะสามารถ Mixdown ออกมาหรืออัพโหลดไปที่ SoundCloud ได้

การออกแบบ User Interface ก็สวยงามได้มาตรฐาน NI เนี้ยบและแป๊ะมาก พยายามเลียนแบบเครื่องดนตรีจริงทั้งตัว Groove Pad ตัวคีย์บอร์ดหรือแม้แต่มิกเซอร์ แต่ไม่ทำให้มันดู Vintage เหมือนกับ App ที่ Moog ทำบน iOS มีความเป็นการ์ตูนกึ่งคอมพิวเตอร์เป็นสไตล์ที่ NI ทำมาโดยตลอด ซึ่งแค่เรื่อง UI นี้ถือเป็นลายเซ็นà
¸­à¸¢à¹ˆà¸²à¸‡à¸«à¸™à¸¶à¹ˆà¸‡à¸—ี่ผู้เขียนยกย่องมาก

การใช้งานมีรูปแบบเหมือนทำเพลงทั่วไป คือเราอาจจะดัดแปลงจากพรีเซ็ตเริ่มแรก หรือล้างและเริ่มใหม่ทั้งหมด เริ่มต้นจากการวางบีททีละแทรค โดยเลือกชุดกลองที่เราชอบ ใส่ไลน์เบส ไลน์ทำนองถ้าต้องการ อัพเสียงร้องถ้ามีไอเดีย มิกซ์บนมิกเซอร์ 4 ช่องปรับระดับความดัง ใส่เอฟเฟกต์ และ Mixdown/Upload ฯลฯ ทั้งหมดเป็น Workflow ที่เราไม่จำเป็นต้องเรียนรู้อะไรใหม่ ยกตัวอย่าง App ที่คล้ายกันอย่าง iDrum ซึ่งแม้จะทำได้ดี แต่เราต้องเรียนรู้ Flow การทำงานก่อนนิดหน่อยจึงจะใช้งานได้สนุก

ข้อจำกัดของ iMaschine กลายเป็นข้อจำกัดของฮาร์ดแวร์ที่มันไม่สามารถรับน้ำหนักของการจิ้มโน้ตได้ แต่เรายังพอปรับค่าน้ำหนักได้เองบ้างครับ ส่วนข้อจำกัดอีกอย่างที่เกิดจากการออกแบบซอฟต์แวร์เองคือทาง NI ไม่เปิดให้เรา Edit โน้ตที่บันทึกลงไปแล้วได้ เราอาจต้องเล่นสดให้ดีที่สุด หรือไม่ก็เริ่มอัดใหม่ หรือสามารถค่อยๆ บันทึกแบบ Overdub ลงไปได้อีกเรื่อยๆ ในระหว่างที่เรากำลัง Playback นี่เองที่ทำให้มันมีแนวคิดเพียง Sketch Pad ไม่ใช่ Groove Production Studio แบบที่ผู้ผลิตรายอื่นๆ ต่างหยิบข้อเสนอในการทำเพลงเต็มรูปแบบกว่ามาให้

ในเรื่องของมาตรฐานการทำงานร่วมกับ App อื่นๆ อย่าง WRIS หรือ AudioCopy ก็ยังไม่มีบน iMaschine อาจเพราะทาง NI เอง ยังไม่ได้มีแผนà
¹€à¸à¸µà¹ˆà¸¢à¸§à¸à¸±à¸šà¹€à¸£à¸·à¹ˆà¸­à¸‡à¸™à¸µà¹‰à¹à¸•à¹ˆà¹à¸£à¸ หรือต้องการเพียงให้ iMaschine เป็นส่วนขยายของการใช้งาน Maschine รุ่นใหญ่กว่า ก็ต้องให้เวลาทางผู้ผลิตในการเผยแผนการเกี่ยวกับเรื่องนี้ครับ

ถ้าไม่นับข้อจำกัดต่างๆ ของมัน พิจารณาแต่สิ่งที่ iMaschine ถูกออกแบบมาแต่แรก ก็ยอมรับว่า iMaschine จัดทำมาได้อย่างดี ใช้งานสนุกและได้ผลลัพธ์คุณภาพสูงแบบที่เราคาดหวังได้ เผลอเราอาจใช้มันมากกว่าเครื่องดนตรีสตูดิโออื่นใด หรือแม้แต่รุ่นพี่ของมันเลยก็ได้

การได้เห็น NI มาลุยตลาดนี้ พร้อมๆ กับการเห็นศักยภาพของระบบ Modular จากผู้ผลิตรายอื่น ผู้เขียนแอบหวังลึกๆ ว่าเราอาจได้เห็น iReaktor มาร่วมวงไพบูลย์ได้ ก็ในเมื่อ 15 ปีก่อนพวกเขาทำ Reaktor บนคอมพิวเตอร์ที่แรงน้อยกว่ามือถือวันนี้ ทำไมพวกเขาจะทำไม่ได้ล่ะ?