เลเซอร์นั้นมีคุณเอนกอนันต์ครับ นับตั้งแต่ถือกำเนิดจาก Bell Labs ในช่วงปี 1958 ก็มีการพัฒนาจนสามารถนำมาใช้ในวงการแพทย์อย่างการผ่าตัดดวงตาเพื่อรักษาโรคต่าง ๆ หรือทางทหารก็นำไปใช้ระบุเป้าหมายให้กับ Smart Bomb (อันนี้ไม่สร้างสรรค์เท่าไร) หรือในทางเทคโนโลยีข่าวสารก็นำมาใช้ขนข้อมูลมหาศาลผ่านใยแก้วนำแสงเพื่อประโยชน์ในการแลกเปลี่ยนความรู้ของมนุษยชาติได้อีกต่างหาก และในคราวนี้ มันใช้เวลาหลายทศวรรษกว่าที่ใครคนหนึ่งเห็นว่ามันสามารถใช้แทนสายของพิณญี่ปุ่นที่มีอายุยืนยาวกว่า 1,300 ปี อย่างโกโตะ (Koto) ได้ เธอคนนั้นคือ Miya Masaoka ครับ
นอกจากเธอเป็นนักเล่นโกโตะและนักประพันธ์เพลงแล้ว เธอยังเป็นนักประดิษฐ์อีกด้วย รูปที่เห็นคือเธอใช้ขาตั้ง Tripod เป็นฐานให้กับตัวยิงเลเซอร์ และการเคลื่อนมือผ่านลำแสงจะเป็นการทริกเกอร์เสียงจากคอมพิวเตอร์ Powerbook G4 ของเธอ
รูปแบบของการเล่นดนตรีแบบนี้นั้น ชวนให้นึกถึง Theremin ซึ่งถือเป็นเครื่องดนตรีอิเล็กโทรนิกส์ตัวแรก ๆ ที่ประสบความสำเร็จอย่างสูง ผู้เล่น Theremin จะทำการวาดมือทั้งสองบน Antenna มือหนึ่งควบคุม Pitch อีกมือควบคุมระดับความดัง ส่วนเสียงของ Theremin จะมีลักษณะใกล้เคียงไซน์เวฟ แต่มีการสั่นเล็กน้อยเหมือนถูก Modulate Amplitude ด้วย LFO ซึ่งหนังไซไฟในยุคก่อน ๆ นิยมนำเสียงของ Theremin มาใช้ทำ Soundtrack เช่น Forbidden Planet กับ Lost in Space แม้แต่วงร็อคอย่าง Led Zeppelin ก็เคยนำมาใช้เช่นกันครับ
Leon Theremin กับเครื่องดนตรีชิ้นเอกที่เค้าสร้างมันมากับมือ
แต่ Laser Koto มีความแตกต่างกับ Theremin ใน 2 ประเด็น อย่างแรกคือเสียงที่ไม่เหมือนกันเลย เสียงจาก Laser Koto ประกอบไปด้วยเสียงของ Acoustic Koto แล้วยังมีเสียงคล้ายกับแก้วแตกและรัว ๆ เหมือนน้ำไหล อีกประเด็นก็คือการที่ผู้เล่น Theremin จะไม่มีลำแสงสีแดงมีสัมผัสร่างกาย เหมือนกำลังถูกปืนไรเฟิลของหน่วย SWAT หลายกระบอกเล็งอยู่ ซึ่งในตอนที่ Masaoka ไปแสดง Laser Koto ที่ New York City ก็มีจุดสีแดงที่เกิดจากแผงเลเซอร์ ปรากฏอยู่ตามแขนของเธอครับ
จุดเริ่มต้นของโปรเจกต์นี้เกิดขึ้นเมื่อสิบกว่าปีก่อนครับ Masaoka มองเห็นว่าเธอสามารถขยายขอบเขตทางเสียงให้กับเครื่องดนตรีของเธอด้วยการใช้อุปกรณ์อิเล็กโทรนิกส์ และได้มีโอกาสพบกับ Tom Zimmerman ผู้เชี่ยวชาญด้าน Human-Machine Interaction ในงานปาร์ตี้ที่ซาน ฟราสซิสโก ตัว Tom Zimmerman นั้นสนใจที่จะทำระบบ VR Control สำหรับใช้เป็นเครื่องดนตรีอยู่แล้ว เมื่อทั้งสองมาเจอกันเป็นผลให้เกิดเครื่องดนตรี Electro-Acoustic ชิ้นแรกของ Masaoka อย่าง “Proto Koto” โดย Zimmerman ได้ติดตัว Infrared Motion Sensor ที่ Koto ของเธอ แล้วทั้งสองก็เริ่มทำการทดลองสร้างเสียงโดยใช้ข้อมูลจากการเล่นกับ Sensor ของ Masaoka มากกว่าที่จะเล่นกับตัวสายพิณตรง ๆ
หลังจากนั้นไม่นานเธอได้เข้าไปทำงานที่ STEIM (the Studio for Electro-Instrumental Music) ในอัมสเตอดัม ที่นั่นเองที่เธอพัฒนา Koto แบบใหม่ให้ดีกว่าเดิม โดยติดตั้ง Motion Sensor และเอฟเฟกต์แบบเท้าเหยียบที่สามารถเชื่อมโยงไปยัง MIDI Interface ได้ โดยนิ้วมือเธอจะใส่ “sensor rings” ซึ่งจะมีสายโยงไปตามแขน เครื่องดนตรีชิ้นใหม่นี้ เธอจะเล่นโดยการดีดสายแบบดั้งเดิม ผสมกับข้อมูลที่ได้จาก Motion Sensor เพื่อสร้างและโปรเซสเสียงใหม่ ๆ ขึ้นมา ซึ่งในตอนหลัง ๆ Masaoka เริ่มติดตั้งแผงเลเซอร์ลงไปที่ด้านบนและด้านล่างของเครื่องดนตรี และต่อมาเธอได้ตัดสินใจโละสายทิ้งให้หมด เหลือเพียงแต่เลเซอร์แต่เพียงอย่างเดียว เป็นจุดเริ่มต้นของ Laser Koto แบบของจริง
Laser Koto รุ่นล่าสุด จะประกอบไปด้วยลำแสง 4 เส้น ซึ่ง Masaoka เรียกว่า “metaphorical strings” และเมื่อมีการสัมผัสลำแสง จะมีการทริกเกอร์การทำงานไปที่โปรแกรมที่เธอเขียนขึ้นด้วย Max/MSP ซึ่งตัวโปรแกรมจะเก็บเสียง Koto ทียังไม่ถูกโปรเซสกว่า 900 เสียงรวมไปถึงเสียงของสภาพแวดล้อมต่าง ๆ ในหลาย ๆ สถานที่ที่เธอไปเยือนและบันทึกเก็บไว้ เสียงเหล่านี้จะถูกเล่นออกมาในรูปแบบต่าง ๆ กันไป ขึ้นอยู่กับวิธีการวาดมือและนิ้วของเธอด้วย ซึ่งอย่างไรก็แล้วแต่ มันก็เล่นสนุกได้ง่าย ๆ กว่าการเล่นเครื่อง Koto ของจริงอย่างแน่นอนครับ
ความง่ายนี้เองอาจทำให้นักดนตรีบางท่านแอบเคืองเล็ก ๆ เพราะถ้าง่ายก็หมายความว่าใคร ๆ ก็เล่นได้ แต่ต้องไม่ลืมนะครับ ว่าทั้งหมดนี้เกิดจากพัฒนาการของเทคโนโลยี ถ้าหากท่านใช้โทรศัพท์มือถือ ดูหนังดีวีดี หรือแม้แต่ฟังเพลงจาก MP3 แล้วล่ะก็ อย่าตำหนิ “เทคโนโลยี” เลยครับ ตำหนิที่ตัว “คน” หรือ“ตัวเอง” ที่ไม่เปิดใจกว้างยอมรับเทคโนโลยี ทั้งที่ใช้มันเป็นประจำในชีวิตประจำวันดีกว่า
ที่มา Wired.com
เยี่ยมชมเว็บและวิดีโอสาธิตได้ที่ http://www.miyamasaoka.com
สนับสนุนบทความโดย Sound & Stage