เมื่อคอมพิวเตอร์แล็ปท๊อปเล่นดนตรีกันเป็นวง
แล้วบทความนวัตกรรมทางเสียงนับจากอดีตถึงปัจจุบันก็กลับมาอีกครั้งหลังจากที่หายไปนานนับปี การกลับมาคราวนี้ก็ยังคงเป็นเรื่องราวของสิ่งประดิษฐ์ทางเสียงใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นทั่วโลก รวมไปถึงการนั่งไทม์แมชชีนย้อนอดีตเรื่องราวไปชมประวัติศาสตร์ความเป็นมาของเครื่องดนตรีที่ถือได้ว่าเปิดจินตนาการใหม่ ๆ ให้กับนักดนตรีในยุคนั้น ๆ ด้วย และในคราวนี้ไม่ได้ย้อนไปไหนไกลครับ เราจะย้อนเวลากลับไปในช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ที่เมืองมิลาน ประเทศอิตาลี กับศิลปินดูโอที่ชื่อ “Limiteazero”
Limiteazero (http://www.limiteazero.com) ก่อตั้งโดยสถาปนิก/นักออกแบบชื่อ Paolo Rigamonte และนักดนตรีอิเล็กโทรนิกส์/นักออกแบบอย่าง Silvio Mondino ซึ่งก็เหมือนกับ Media Artist โดยส่วนใหญ่ ที่พยายามออกแบบสื่อกลางใหม่ ๆ ระหว่างมนุษย์กับเครื่องจักร (คอมพิวเตอร์) และสิ่งแวดล้อม โดยสร้างสะพานเชื่อมต่อระหว่างข้อมูลเชิงกายภาพ (Physical) กับข้อมูลดิจิตอล ผลงานของพวกเค้ามักจะแสดงตามงาน Exhibition ต่าง ๆ ทั่วโลก โดยจะมีสัญญาว่าจ้างจากผู้ผลิตรายใหญ่ ๆ อย่าง BlackBerry, Alberto Aspesi, Nice, Siemens และล่าสุดคือ Toshiba ในโปรเจคต์ที่ชื่อว่า “laptop_orchestra” ที่เป็นพระเอกของเรื่องนี้เองครับ
อันที่จริง Laptop Ochestra ยังไม่ถือเป็นนวัตกรรมทางเสียงที่มีแนวคิดน่าตื่นเต้น หรือบางท่านอาจไม่คิดว่ามันเป็นนวัตกรรมเลยด้วยซ้ำ เนื่องจากว่างาน Interactive Sound Installation หรืออะไรก็ตามที่มีลักษณะเดียวกันนี้ มักจะมีความใหม่ในตัวมันเองอยู่แล้ว มองดูเป็นงานศิลปะแขนงใหม่มากกว่าจะเรียกว่านวัตกรรม (ในเชิงวิศวกรรม) แต่อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนเห็นว่ามันมีความน่าสนใจ และน่าจะเป็นแรงบันดาลใจให้กับใครอีกหลายคน โดยเฉพาะ Media Artist ในบ้านเรา ที่เริ่มปรากฏตัวให้เห็นบ้าง เพราะอย่างที่รู้กันว่างานลักษณะนี้ยังมีพื้นที่ให้แสดงอีกมากนั่นเองครับ
แนวคิดของ laptop_orchestra
ทีมผู้ผลิตได้นิยามไว้อย่างชัดเจนว่า…
“laptop_orchestra is an interactive synaesthetic instrument designed for real-time audio-visual composition and performance”
อธิบายเป็นภาษาไทยก็จะยาวนิดนึงนะครับ กล่าวคือให้เรามองชุดของคอมพิวเตอร์แลปท๊อปที่วางเรียงเป็นอาร์เรย์ขนาด 3 x 5 ตัว ให้เป็นเหมือนเครื่องดนตรีชิ้นหนึ่ง ที่มีเราเป็นผู้เล่น หรือทำหน้าที่เป็นคอนดักเตอร์ให้กับวง laptop_orchestra นั่นเองครับ โดยคอมพิวเตอร์แต่ละตัวจะมีเสียงและภาพในแบบของตัวมันเอง มันไม่ได้เรียบง่ายถึงขนาดว่ามันมีเสียงเพียงเสียงเดียวในแต่ละเครื่อง แล้วรอการทริกเกอร์เสียงจากเรานะครับ แต่หมายถึงการที่มันมีชุดคำสั่งของตัวเองในการสร้างภาพ และเสียงก็จะมาจากสเปคตรัมของสีจากภาพ แล้วเมื่อเรานำมาเล่นพร้อมกัน 15 ตัว มันจึงเกิดการผสมผสานระหว่างเสียงกับภาพ ผลลัพธ์มันจึงหลากลายและแทบจะไม่มีที่สิ้นสุดครับ
Synaesthesia (ถ้าเป็น adj.-Synaesthetic) หมายถึงประสาทสัมผัสการรับรู้หนึ่งไปกระตุ้นประสาทสัมผัสการรับรู้อีกส่วนหนึ่ง ในกรณีนี้คือการเห็นภาพไปกระตุ้นการรับฟังเสียงนั่นเอง หรือเวลาที่เราได้ยินเสียงเล็บขูดกับกระดานดำ เราจะได้รู้สึกเสียวสันหลังวาบคล้ายจะหมดแรง เหล่านี้เป็นตัวอย่างของ Syneasthesia ครับ
ย้อนกลับมาในเรื่องของการควบคุมบ้าง มันจะมีโพเดียม (Podium) สีขาววางไว้อยู่ด้านหน้าของกลุ่มคอมพิวเตอร์ โดยจะต่อสัญญาณแบบเดียวกับที่ใช้ควบคุมเมาส์ผ่าน USB ไปยังคอมพิวเตอร์แต่ละตัว สัญญาณควบคุมนี้จะต่อเข้ากับท่อนยาว ๆ ที่อยู่เหนือโพเดียม ทำหน้าที่เป็น Touch Sensor และเมื่อเราสัมผัส มันจะทำการเปิดปิดการเล่นเสียงของพิวเตอร์แต่ละตัว โดยเบื้องหลังของการเล่นภาพและเสียง คือซอฟต์แวร์ที่เขียนขึ้นอย่างเรียบง่ายด้วยภาษา Processing* เมื่อนำไปติดตั้งบนแลปท๊อปแต่ละเครื่องแล้วทำการกำหนดเสียงให้แต่ละเครื่องตามแต่ตำแหน่งและสีที่แต่ละเครื่องจะสามารถแสดงได้ เสียงของแต่ละเครื่องจะถูกส่งมายังมิกเซอร์ที่ซ่อนไว้อยู่ใต้โพเดียมอีกที
เป็นอย่างไรบ้างครับ แนวคิดเรียบง่ายแค่นี้อาจดูไม่ใช่นวัตกรรมในเชิงวิศวกรรม แต่ในแง่ของความงาม ความน่าสนใจ ในการเชิญชวนให้ผู้คนเข้ามาสนใจนั้น มีไม่น้อยเลยทีเดียว รวมถึงการที่มันจะสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับผลิตภัณฑ์นั้นอีกด้วยครับ เท่าที่เห็นในตอนนี้ องค์กรใหญ่อย่าง True Corp เริ่มใช้ Media Installation ในงาน Exhibition เยอะมากแล้ว และเห็นแนวโน้มว่าองค์กรอื่นจะเริ่มทำตามขึ้นเรื่อย ๆ หากท่านผู้อ่านต้องการงาน Installation ในลักษณะเดียวกันนี้ ก็เรียกใช้บริการผู้เขียนและทีมงานได้ที่ 089-105-2864 เพราะเคยทำงานในลักษณะนี้ให้กับ True ในงาน ICT Expo ที่ผ่านมาแล้วสนุกมากครับ ถ้ามีโอกาสก็อยากจะสนุกกับมันอีก…
เกี่ยวกับภาษา Processing
Processing คือ Programming Environment ครับ ดังนั้นเราจึงเขียนโปรแกรมได้ในตัวมันเองเลย ครับ และเป็นโปรแกรมโอเพ็นซอร์สสำหรับการเขียนโปรแกรมด้านภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหวและเสียงโดยเฉพาะ ถือกำเนิดโดยกลุ่ม Aesthetic & Computation Group ของ MIT Media Lab และด้วยความที่มันใช้งานง่าย มันถูกนำไปใช้เป็นเครื่องมือในการสอนพื้นฐานการเขียนโปรแกรมให้ครับศิลปินด้าน Visual Media เพราะส่วนใหญ่แล้ว จะไม่ได้ศึกษาการเขียนโปรแกรมที่ใช้เทคนิคสูง ๆ อย่างภาษา C นั่นเองครับ
ดาว์นโหลดมาใช้งานได้ที่ http://www.processing.org
ตัวอย่างงานที่สร้างโดย Processing
นิตยสาร The Absolute Sound & Stage ให้การสนับสนุน