อันที่จริงแคมเปญจ์ “อินเทล อินไซด์” (Intel Inside) ที่บริษัทที่ลงทุนด้านเซมิคอนดักเตอร์รายใหญ่ที่สุดในโลกอย่าง Intel Corporation ใช้ในช่วงทศวรรษที่ 90 นั้น ถูกโละทิ้งไปตั้งแต่ปี 2005 แล้ว แต่ระยะเวลากว่า 15 ปีของมันนั้น คงทำให้ใครหลายคนรวมทั้งผู้เขียนเอง ยังคงจดจำ “เสียงแห่งอินเทล อินไซด์” ได้ดี มันเป็นเสียงที่ถูกเล่นทุก ๆ 5 นาที ณ ส่วนหนึ่งส่วนใดของโลก เพราะถูกเผยแพร่ทางทีวีออกไปกว่า 130 ประเทศทั่วโลก และใช้งบประมาณในการเผยแพร่เป็นพันล้านบาทในแต่ละปี

  <--โลโก้อินเทล อินไซด์ ใช้ตั้งแต่ปี 1990-2005

 

 

 

 

 

 

โลโก้ใหม่ของอินเทล เริ่มใช้ตั้งแต่ 2006

มันเป็นเพลงสั้นที่มีโน้ตเพียง 5 ตัวเท่านั้นครับ เรียงตามลำดับก็คือ “D  D  G  D  A ผู้ประพันธ์เป็นหนึ่งในนักดนตรีวง Edelweiss วงที่ใช้เทคโนโลยีการแซมปลิ้งมาตั้งแต่ยุค 80 นามว่า Walter Werzowa ที่ตลกก็คือ ตอนที่เขาถูกขอให้แต่งเพลงนี้ เขายังไม่รู้จักชื่อ “Intel” เลยด้วยซ้ำ

 ยังจำตัวประหลาดกลุ่มนี้ได้หรือเปล่าครับ?

ชีวิตของ Walter นั้น เป็นนิยายสนุก ๆ ได้เช่นกันครับ วงของเขาเริ่มต้นแต่งเพลงด้วยการยืมทำนองของเพลงดัง ๆ มาใช้ ไม่ว่าจะเป็น Star Trek Theme Song ไปจนถึง SOS ของวง ABBA ไปจนถึง Last Night a DJ Saved My Life ของวง Indeep ต่อมาเขาได้อ่านหนังสือเล่มดังของวงการอุตสาหกรรมดนตรี นั้นก็คือ “’The Manual: How to Have a Number One Hit the Easy Way” เขาทำตามขั้นตอนที่หนังสือแนะนำ แล้วก็ขายเพลงได้ถึง 2 ล้านชุดทั่วยุโรป ซึ่งนั้นก็ทำให้เขามีเงินพอที่จะพาตัวเองไปผจญภัยอยู่ใน LA. ได้เลยครับ

ปกหนังสือ The Manual อันโด่งดัง

วันหนึ่งใน LA เพื่อนของเขาที่ชื่อ Kyle Cooper นักทำ Title Sequence อัจฉริยะ ผู้ทำไตเติ้ลเปิดรายการให้กับภาพยนตร์ดัง ๆ มากมาย ยกตัวอย่างเช่น Mission: Impossible, Spiderman 1-2 หรือแม้แต่เกมคอมพิวเตอร์ระดับเบสต์เซลเลอร์อย่าง Metal Gear Solid 3: Snake Eater มาหาเขาที่บ้าน แล้วบอกให้เขาแต่งเพลงสั้น ความยาวไม่เกิน 3 วินาทีเพื่อประกอบหนังโฆษณาของ Intel โดย Cooper เองนั้นถูกจ้างมาให้ดูแลการผลิตในส่วนนี้อยู่แล้ว ตัวเพลงเองมีเงื่อนไข “ไม่ยาก” ดังนี้ครับ 1.ต้องเป็นเสียงที่รู้สึกได้ถึงความเป็นนวัตกรรม 2.รู้สึกได้ถึงทักษะในการแก้ปัญหา 3.รู้สึกได้ว่ามาจากคอมพิวเตอร์ และข้อสุดท้าย 4.รู้สึกถึงความยิ่งใหญ่ขององค์กรทั้งยังเชิญชวนให้คนสนใจ ไม่คิดว่าเป็นองค์กรที่ใหญ่แต่หยิ่ง

Walter ใช้เวลาตลอดช่วงสุดสัปดาห์อยู่ในโฮมสตูดิโอของเขา ยิ่งเวลาผ่านไปแต่ละวัน เขาก็ยิ่งรู้สึกสิ้นหวังเพราะนึกไม่ออกจริง ๆ ว่าจะแต่งเพลงอย่างไรเพื่อตอบโจทย์เหล่านั้นได้ เลือกทำนองแบบไหนก็ไม่ใช่เสียที เขาจึงลองคิดใหม่ทำใหม่ด้วยการเริ่มจากคำว่า “อินเทล อินไซด์” โดยพยายามร้องเพลงเพื่อหาท่วงทำนองก่อน ต่อมาจึงพบว่าน่าจะใช้คู่ 4-คู่ 5 เพราะเป็นขั้นคู่ที่คนทั่วโลกคุ้นเคยดีอยู่แล้ว หลังจากนั้นก็ใช้เวลาอีก 10 วันในการบันทึกเสียงครับ

ตัว Walter เองนั้น เป็นนักสะสมซินธ์อยู่แล้ว (แต่เขาบอกว่าไม่มีทุกตัวนะ) ซึ่งเสียงของอินเทลนี่ เขาใช่ถึง 40 กว่าเลเยอร์ รวมซินธ์ดัง ๆ อยู่ในเสียงนั้น ไม่ว่าจะเป็น DX7, Oberheim OBX, Prophet VS, Emulator IIIx, Roland S760 และซินธ์ตัวโปรดอย่าง Jupiter 8 เพราะเป็นตัวแรกในชีวิตของเขา เสียงส่วนใหญ่เป็นโทนเสียงคล้ายกับเครื่องดนตรีอย่าง Marimba และ Xylophone ด้วยเหตุผลที่ว่าเสียงแบบนี้จะฟังดูเป็นองค์กรใหญ่

Walter Werzowa

หลังจากงานเสียงอินเทล อินไซด์ทำให้ Walter เปลี่ยนแนวคิดใหม่เกี่ยวกับการแต่งโลโก้ว่า “มันไม่ใช่เรื่องของทำนองหรือตัวเนื้อเสียงหรอก หากแต่เป็นวิธีการคิดว่า ทำไมเราจึงเลือกทำนองและเสียงแบบนั้น” ในปัจจุบันนี้ Walter โละบรรดาฮาร์ดแวร์ซินธ์มากมายออกไป เหลือเพียงซอฟต์แวร์ซินธ์ล้วน ๆ ไม่ว่าจะเป็นปลั๊กอินของ Logic หรือ Reaktor-Vokator จาก Native Instruments และชุดซอฟต์แวร์จาก Waves บนโฮสต์อย่าง Logic และ Protools โดยพ่วงคอนโทรลเลอร์อย่าง Mackie HUI Console เข้าไปอีกหนึ่ง โดยให้สัมภาษณ์กับ Mix Magazine เกี่ยวกับอุปกรณ์ใหม่เหล่านี้ว่า “ความท้าทายคือการที่เราใช้มันอย่างชาญฉลาดครับ ตอนที่ Bach เล่นเปียโนซึ่งยังใหม่มากในสมัยนั้น เค้าก็ยังเล่นมันเหมือนออร์แกน และใช้เวลาเป็นร้อยปีกว่าจะพัฒนามาเป็นบทประพันธ์สำหรับเปียโนจริง ๆ ซึ่งในปัจจุบันนี้ ผมก็ยังไม่เห็นว่าใครจะเข้าถึงความงดงามของซินธีไซเซอร์ได้อย่างชัดเจน เราอาจจะเล่นมันก็จริง แต่เราก็ยังไม่สามารถเล่นมันจนถึงขีดของคำว่าเอกลักษณ์ ผมคิดว่านี่ล่ะ จะเป็นเครื่องดนตรีที่สร้างดนตรีรูปแบบใหม่จากวิธีการคิดและเล่นแบบใหม่”

งานเสียงของอินเทลอาจไม่ทำให้ Walter เป็นเศรษฐีในครั้งเดียว (ตามข่าวบอกว่าไม่มากเท่าไร) แต่สิ่งที่เขาได้มากกว่านั้นคือการเปิดประตูสู่งานอีกหลายชิ้น จนเขาสามารถตั้งบริษัท Musikvergnuegen (เป็นภาษาเยอรมันแปลเป็นไทยได้ว่า “ความบันเทิงในเสียงดนตรี” เว็บไซต์ http://www.musikvergnuegen.com) ขึ้นมา มีพนักงาน 11 คนเพื่อผลิตงานเสียงในรูปแบบต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นงานเสียงประกอบโฆษณาให้กับ Nike, Budweiser, Microsoft, Mastercard, Expedia งานเสียงโล้โก้ IBM, Sony, Lifetime, Comedy Central หรืออย่างล่าสุดคือ Samsung ซึ่งเสียงเหล่านี้ถูกนำมาใช้ทั่วโลก หรือแม้แต่ออกแบบเสียงประกอบภาพยนตร์ตัวอย่าง (Trailer) อย่าง The Last Samurai, A.I., Spiderman ก็เป็นผลที่ตามมาจากเครดิตงานชิ้นแรก

Walter ให้ความเห็นเป็นครั้งสุดท้าย “แม้การฟังเพลงสั้น ๆ ซ้ำ ๆ เป็นหมื่นเป็นแสนครั้งนั้นเป็นงานที่อันตรายต่อทั้งสุขภาพหูและสุขภาพจิต แต่ผมยอมรับได้นะ…”

ที่มา music things