Hercules เป็นบริษัทที่ก่อตั้งโดยคนไทยที่ไปทำงานในอเมริกาเมื่อ 20 ปีก่อน เริ่มต้นกับการทำการ์ดจอตัวแรกบน PC ในวันนี้แม้ว่าจะโอนสัญชาติเป็นของฝรั่งเศสแล้ว แต่ก็ยังคงเอาดีด้านการผลิตอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ โดยเน้นไปทางการ์ดเสียงแทน และพ่วงอุปกรณ์ Wi-Fi, ลำโพง, เว็บแคมเข้าไปด้วย ผลิตภัณฑ์ที่ดูโดดเด่นคือ Hercules DJ Console ซึ่งผนวกเอาแนวคิดของซาวน์การ์ด+ดีเจคอนโทรลเลอร์+ดีเจซอฟต์แวร์เข้าด้วยกันเป็นรายแรก (ก่อนหน้านี้อาจมี แต่ไม่ไดทำมาเป็นเนื้อเดียวกัน) และจากการที่ผู้เขียนคลุกคลีอยู่กับ DJ Console หลายเดือน หลากรุ่น ก็พอจะเห็นว่ามันเป็นอุปกรณ์ที่เล่นสนุกได้ด้วยตัวเอง แม้ว่าจะเป็นดีเจหน้าใหม่ก็ตาม

DJ Console

ยังมีผลิตภัณฑ์อีกตัวหนึ่งที่ผู้เขียนได้มาทดลองใช้ มันเป็นผลิตภัณฑ์แบบคอมซูมเมอร์ ทำขึ้นมาเพื่อความบันเทิงส่วนตัวภายในบ้าน ใช้แนวคิดคล้ายกับ DJ Console หากแต่เปลี่ยนจากดีเจมาเป็นการร้องเพลงแทน ชื่อว่า Karaoke Console ครับ

ประกอบไปด้วยคอนโซลอย่างที่เราเห็นในภาพ เราจะใช้มันควบคุมฟังก์ชันสำคัญอย่าง Transpot ควบคุมการเล่น/หยุด บันทึก ไปจนถึงการปรับระดับเสียง ไม่ว่าจะเป็นเสียงหลักหรือเสียงดนตรี หรือการเปลี่ยน Pitch (คีย์ของดนตรี) ความเร็วของดนตรี ไปจนถึงปรับเอฟเฟกต์ Echo/Reverb ตัดเสียงร้องของเพลงเดิมออก ไปจนถึงการทริกเกอร์เสียงประกอบอย่างเสียงตบมือ เสียงหัวเราะ โห่ ฮา และเอฟเฟกต์สำหรับเปลี่ยนเสียงร้องของเราเป็นเสียงหุ่นยนต์ เด็ก ผู้ชาย ผู้หญิง และที่ขาดไม่ได้อีกอย่างคือไมโครโฟนพร้อมสายที่แถมมาให้ด้วยเลย ส่วนหัวใจสำคัญคือซอฟต์แวร์ ซึ่งเป็นฟรีแวร์ที่ชื่อ KaraFun ครับ เราจึงดาวน์โหลดมาใช้ได้ฟรีที่ http://www.karafun.com รายละเอียดของมัน เราจะมาว่ากันต่อไป ซอฟต์แวร์ KaraFun นั้นยังมีเวอร์ชันที่ต้องเสียเงินซื้อด้วย ชื่อ KaraFun Studio เพิ่มความสามารถในการเก็บพารามิเตอร์อย่าง Pitch, Tempo ฯลฯ ของแต่ละเพลงไว้ได้ รวมไปถึงการที่เราสามารถนำมันไปใช้ในเชิงการค้าได้ เช่นเปิดร้านคาราโอเกะ เป็นต้น ซึ่งแม้ว่าตัวซอฟต์แวร์เป็นของฟรี แต่การที่เราใช้ Karaoke Console นั้นจะมีข้อดีอย่างเช่น มันเป็นระบบ All in One หรือตัวเดียวจบ หลังจากแกะกล่องแล้วติดตั้ง เราก็สามารถสนุกกับมันได้ทันที เพราะมีอุปกรณ์พื้นฐานอย่างไมค์มาให้พร้อมแล้ว และระบบควบคุมบนคอนโซลก็ทำให้การเล่นเพลง ร้องเพลงด้วย KaraFun นั้น สะดวกกว่าการไม่มีครับ

รายละเอียดทางด้านฮาร์ดแวร์

ในเมื่อ Karaoke Console เป็นผลิตภัณฑ์เพื่อคนทั่วไป ไม่ใช่คนทำงานด้านเสียงเป็นอาชีพเป็นหลัก ผมก็จะขออฺธิบายรายละเอียดในส่วนต่าง ๆ ในมุมมองของผู้ใช้ทั่วไปเป็นหลักครับ เริ่มจากระบบอินพุท-เอาท์พุทก่อน ซึ่งจะมีให้ใช้ในแบบที่คนทั่วไปนิยมใช้ทังหมดครับ ที่ด้านหลังจะมีแบบ RCA และ mini Jack ทั้งขาเข้าและขาออก รวมถึง USB สำหรับต่อเข้ากับคอมพิวเตอร์ โดยไม่ต้องต่อไฟจากภายนอก ส่วนด้านหน้าจะมีอินพุท 2 ช่องแบบ 1/4” สำหรับต่อไมค์กับเอาท์พุทแบบ 1/4” เช่นกัน สำหรับต่อเฮดโฟนซึ่งจะมีปุ่มหมุนควบคุมระดับสัญญาณทั้ง 3 ช่องด้านหน้าด้วยครับ สะดวกมาก ขณะที่ด้านหลังใช้เป็นเอาท์พุทหลัก จะปรับระดับความดังที่ตัวซอฟต์แวร์เอา

ส่วนที่หน้าพาเนลนั้น ไม่มีสีสันจากไฟ LED เหมือนกับ DJ Console ครับ เป็นหน้าเรียบ ๆ พร้อมปุ่มควบคุมวางอยู่เป็นกลุ่ม ๆ เข้าใจง่ายโดยเฉพาะคนทำงานด้านเสียง ผู้เขียนลองเอา Karaoke Console ไปให้กลุ่มเพื่อน ๆ ที่ไม่ได้ทำงานด้านเสียงดู ซึ่งก็น่าจะเป็นกลุ่มเป้าหมาย ปรากฏว่าส่วนใหญ่แล้วจะกลัวกับการที่มันมีปุ่มมากมาย และคำอธิบายบนปุ่มอย่าง Music Pitch หรือ Mask Left Voice นั้น ก็เป็นส่วนน้อยเท่านั้นที่เข้าใจ แสดงว่าคนที่จะใช้มันได้เป็นอย่างดีก็ควรจะต้องเป็นคนชอบเล่นเกี่ยวกับเสียงมาก่อน หรือรักที่จะเรียนรู้จากการอ่านอยู่เสียหน่อย หรืออย่างน้อยควรสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับการใช้จากตัวแทนจำหน่ายเสียก่อนครับ

และ Hercules ก็ยังรักษาเอกลักษณ์ทางด้านฮาร์ดแวร์ของตัวเองไว้อย่างดีครับ คือไม่ทำปุ่มสวิตซ์เปิดปิดเครื่องเหมือนเดิม ซึ่งคิดอีกแง่หนึ่ง ก็อาจไม่จำเป็นก็ได้ เพราะเค้าออกแบบมาเพื่อใช้เป็นซาวน์การ์ด หมายความว่าให้เราเสียบกับคอมไว้ใช้งานตลอดเวลาอยู่แล้ว

เกือบลืมอธิบายสิ่งสำคัญอย่างไมโครโฟนครับ ในมุมมองของคนหากินอยู่กับเสียง มันก็อาจดูไม่โปรนัก แต่มันก็ยังแข็งแรงและผลลัพธ์ของเสียงก็ยังดีกว่าไมค์ตามคาราโอเกะทั่ว ๆ ไปเสียอีก (ใช้เอฟเฟกต์ Echo-Reverb ของโปรแกรมช่วยด้วย) แต่ทั้งนี้ระบบเสียงจะดี ต้องดีทั้งแต่ต้นทางถึงปลายทางซึ่งก็คือระบบขยายเสียงและลำโพงด้วยครับ

รายละเอียดของการติดตั้งและซอฟต์แวร์

เนื่องจากความตั้งใจของผู้ผลิตเพื่อให้ทุกอย่างง่ายและตัวเดียวจบอยู่แล้ว การติดตั้งจึงเรียบง่าย แค่คลิก เสียบแล้วก็คลิก ซอฟต์แวร์จะมีสองส่วนคือส่วนที่เป็นไดร์เวอร์กับ KaraFun ในแผ่นซีดีที่แถมมายังมีซอฟต์แวร์ Cyberlink PowerDVD พร้อมเลขซีเรียลติดมาให้ด้วย เพื่อใช้เป็นตัวเล่นแผ่น DVD สำหรับสนับสนุน KaraFun ให้เล่น DVD ได้แม้ว่าทุกวันนี้คอมพิวเตอร์ส่วนใหญ่จะเล่นดีวีดีได้อยู่แล้ว ก็ถือเป็นความรอบคอบของทางผู้ผลิตเองครับ

หลังการติดตั้งเสร็จสิ้น ซอฟต์แวร์ส่วนแรกที่เราต้องทำความเข้าใจคือ Control Panel ซึ่งหน้าตาก็เป็นเอกลักษณ์ของทาง Hercules เองอยู่แล้ว การปรับแต่งก็เข้าใจได้โดยง่ายครับ หากเรากดปุ่มบนคอนโซลเอง ก็จะมีผลแสดงทางหน้า Control Panel ด้วย ฟังก์ชั่น Karaoke ทางด้านขวาจะเป็นส่วนที่เราต้องใช้บ่อยสุดเลยทีเดียว

อีกหน้าที่เหลือคือ Mixer กับ About ครับ Mixer น่าจะเป็นส่วนที่เราคุ้นเคยกันดีอยู่แล้ว ทีนี้ก็มาถึงซอฟต์แวร์ที่ถือเป็นหัวใจสำคัญในการเล่นเพลงคาราโอเกะเสียที KaraFun…

อินเตอร์เฟซดูคล้ายโปรแกรมเล่นมัลติมีเดียยอดนิยมอย่าง Winamp ที่มีลักษณะเป็นโมดูลาร์ เราสามารถเลือกปิดหรือเปิดในบางส่วนได้ และแน่นอนครับ เปลี่ยนสกินได้เหมือน Winamp วิธีการเพิ่มเพลงก็ทำได้คล้ายกัน คือมีปุ่ม Add หรือใช้บราวเซอร์ หรือลากเพลงจากข้างนอกเข้ามาได้เลย ส่วนฟอร์แมทไฟล์ที่สนับสนุนนั้น กว้างมาก ๆ นอกจากฟอร์แมทของโปรแกรมเองแล้ว ไฟล์มีเดียพื้นฐานอย่าง MIDI, MP3, Wav, Avi, Ogg, Mpeg, WMV ฯลฯ มากมายเกินกว่าจะยกมากล่าวทั้งหมด

กรณีที่เรามีจอแสดงผลสองจอ และต้องการให้จอหนึ่งเป็นตัวแสดงภาพและเนื้อเพลงให้นักร้อง ก็จะมีส่วนให้เราเลือกปรับแต่งในส่วนนี้อย่างง่าย ๆ ด้วย และหลังจากการสำรวจ Features คร่าว ๆ ของโปรแกรมรวมถึงการลองฟังเพลงตัวอย่างที่มีมาให้ ก็เกิดอาการคันปาก อยากเสียบไมค์แล้วร้องเพลงทันที

ร้องเถอะ ร้องเพลง ถ้าอยากจะร้องก็ร้องไป…

หัวใจสำคัญของระบบนี้คือการที่เรานำเพลงอะไรก็ได้ที่เรามี มาเล่นโดยโปรแกรมจะตัดเสียงร้องนำออกไป แล้วเราร้องตามได้ทันที หรือหากต้องการ เรายังสามารถปรับ Pitch (คีย์) เพลงรวมไปถึง Tempo เพื่อให้ลงกับรูปแบบการร้องของเราด้วย ฟังก์ชันการตัดเสียงจะใช้วิธีการหักล้างของเฟส กล่าวคือมีการเลื่อนเฟสของช่องสัญญาณข้างหนึ่งออกไปอีก 180 องศา แล้วเสียงของนักร้องนำที่โดยส่วนใหญ่จะอยู่ตรงกลางของสเตอริโอฟิลด์จะหายไป โชคไม่ดีที่เสียงบางอย่างเช่นเสียง Kick Drum หรือเสียงเบส ที่เอนจิเนียร์มักจะมิกซ์ให้อยู่ตรงกลางเพื่อความแน่น ก็จะหายไปด้วย เราจึงต้องหาจุดลงตัวระหว่างการที่เสียงร้องหายไป กับเครื่องดนตรีที่หายไป เพลงที่ผู้เขียนเห็นว่าได้ผลมาก ๆ ในการตัดเสียงร้องออกคือเพลงประเภทที่มีเปียโนเป็นเครื่องดนตรีหลัก หรือเพลงใดก็ตามที่เครื่องดนตรีแบ็คอัพไม่กองอยู่ตรงกลาง เสียงดนตรีจะใกล้เคียงของเดิมรวมไปถึงเสียงร้องประสานก็ยังอยู่ ทำให้ร้องเพลงสนุกมากครับ

(ภาพซ้าย) ฟังก์ชันตัดเสียงของ KaraFun (ภาพขวา) ฟังก์ชันตัดเสียงของ Karaoke Console

มีจุดที่ผู้เขียนแอบสังเกตเห็นเกี่ยวกับฟังก์ชันตัดเสียงก็คือ มันจะมีสองส่วนแยกกันครับ คือส่วนของโปรแกรม KaraFun กับส่วนของ Karaoke Console ผู้เขียนลองทดสอบเพื่อเปรียบเทียบกันดูพบว่าฟังก์ชันตัดเสียงของ KaraFun นั้น ให้ผลลัพธ์ไม่ดีเท่า Karaoke Console โดยเสียงที่ตัดจาก KaraFun นั้น ออกมากว้างจนเกินไป จับมิติไม่ได้ อาการเหมือนกับตอนที่เราต่อขั้วลำโพงข้างใดข้างหนึ่งผิดไป ฟังแล้วเหมือนกับหูของเรามีปัญหากับการได้ยิน ส่วนเสียงที่ตัดจาก Karaoke Console ยังมีโฟกัสให้จับต้องได้ แม้เราจะได้ยินเอฟเฟกต์จากการเลื่อนเฟสชัดเจน แต่ก็ยังถือว่าพอรับได้และฟังดีกว่าการตัดเสียงของซอฟต์แวร์ KaraFun มาก นี่อาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้คนที่ชอบ KaraFun ซึ่งเป็นของฟรี ต้องควักเงินซื้อ Karaoke Console มาใช้ครับ

ส่วนฟังก์ชันการเปลี่ยนคีย์หรือ Pitch Shift นั้นก็แยกกันเช่นกัน หากเราไปเพิ่มของ KaraFun 2 เซมิโทน และไปเพิ่มที่ Control Panel อีก 2 เซมิโทน ก็จะกลายเป็นเพิ่ม 4 เซมิโทน แต่เมื่อนำมาเทียบกันแบบ A/B Test ก็พบว่าคาแรกเตอร์ของเสียงนั้นต่างกันเล็กน้อย ซึ่งผู้เขียนเองไม่สามารถชี้เฉพาะไปได้ว่าของอะไรดีกว่ากัน เพราะใกล้เคียงกันมาก เพียงแต่บน KaraFun จะปรับได้ถึง +/- 6 เซมิโทน ซึ่งถ้าเพิ่มถึง 6 เสียงที่ได้ก็เริ่มฟังแล้วเสียอารมณ์แล้วล่ะครับ ส่วนบน Karaoke Console จะปรับได้เพียง +/- 4 เซมิโทนเท่านั้น

และที่ปรับได้อีกอย่างหนึ่งคือฟังก์ชัน Tempo จะใช้ร่วมกัน คือจากโปรแกรม KaraFun เป็นหลักครับ เข้าใจว่าทางผู้ผลิตเองทำการบ้านมาอย่างดีว่าจะใช้แบบไหนเพื่อให้ผลลัพธ์ออกมาดีที่สุด

สำหรับเอฟเฟกต์สำหรับเสียงร้องของเรานั้น ตัวหลักคือ Echo-Reverb ซึ่งผลลัพธ์อาจไม่ดีเท่าเอฟเฟกต์รีเวิร์บระดับโปรที่เราคุ้นเคยกัน แต่มันก็ดีพอสำหรับการร้องเพลงของเรา ช่วยส่งให้เสียงมีชีวิตมากขึ้น ขณะที่เวลาที่ผู้เขียนจำใจไปพบปะเพื่อนฝูงตามร้านคาราโอเกะแบบมาตรฐานไปจนถึงชั้นดี ก็ยังรู้สึกเซ็งกับผลลัพธ์ที่ได้เมื่อเทียบกับเงินที่จ่ายไป ส่วนเอฟเฟกต์ของเสียงอื่น ๆ เช่นเสียงหุ่นยนต์ เด็ก ผู้ชาย ผู้หญิงนั้น น่าจะเอาไว้ใช้ดึงดูดคนทั่วไปในตอนที่กำลังตัดสินใจซื้อหรือใช้แกล้งตอนเพื่อนร้องเพลงมากกว่าที่เราจะใช้อย่างจริง ๆ จัง ๆ ตั้งแต่เหตุผลในเรื่องความหน่วงซึ่งมีมากระดับหนึ่ง ไปจนถึงการควบคุมระดับ Pitch

ส่วนฟังก์ชันอีกอย่างหนึ่งที่ใช้ระหว่างการเล่นก็คือการเปิดเสียง Special Effect อย่างเสียงตรบมือ เสียงกรี๊ด หรือจะเสียงโห่ ฮาต่าง ๆ ประมาณ 5 เสียง ซึ่งหากเราจะนำมันไปเทียบกับเสียงที่เราได้จาก MIDI คีย์บอร์ดเวิร์กสเตชั่นทั่วไป ก็ถือว่าด้อยกว่า แต่ที่น่าเสียดายมากกว่านั้นคือการที่ผู้ใช้อย่างเรา ๆ ไม่สามารถเปลี่ยนเสียงเหล่านี้ได้เองด้วย นี่อาจเป็นฟังก์ชันแถมมาให้ขำ ๆ แบบเดียวกับเอฟเฟกต์เสียงร้องก็เป็นได้ครับ คือมีมาให้สนุก ๆ ดีกว่าไม่มีเลยครับ

อยากทำ Karaoke มาร้องเอง…?

คงจะมีคำถามใหญ่ตามมาว่า หากเราสามารถนำเพลงอะไรก็ได้มาตัดเสียงร้องได้ แล้วเราจะใส่เนื้อร้องเข้าไปเองได้อย่างไร ซึ่งคำตอบของคำถามนี้ต้องขอบคุณทางผู้ผลิตซอฟต์แวร์ KaraFun ครับ ที่สร้างตัว Editor มาให้ด้วย

ซอฟต์แวร์อิดิเตอร์จะช่วยเราประกอบเพลง เนื้อเพลง ภาพนิ่ง เข้าด้วยกันเป็นวิดีโอคาราโอเกะในแบบที่เราคุ้นเคย ข้อดีคือการใช้งานที่ค่อนข้างง่าย โดยเฉพาะคนทำงานด้านนี้อยู่แล้ว หรือหากแม้นเปิดมาแล้วยังไม่รู้จะเริ่มต้นยังไง ก็ยังมี Tutorial ในการทำผ่านอินเตอร์เน็ต เสียดายอยู่นิดก็ตรงที่เราไม่สามารถใช้ไฟล์วิดีโอมาประกอบได้ รวมไปถึงการลากไฟล์เพลงและรูปภาพลงไปในโปรเจกต์ได้อย่างง่าย ๆ เหมือนซอฟต์แวร์ทั่วๆไป เราต้องทำการเพิ่มไฟล์ที่ต้องการนำมาใช้ลงไลบรารี่เสียก่อน จึงจะใช้ได้ มีเอฟเฟกต์สำหรับการเล่นกับภาพและตัวอักษรนิดหน่อย โดยจะเน้นไปที่ตัวอักษรมากกว่า เพราะจุดประสงค์เพื่อทำคาราโอเกะให้เราร้องเพลง และผลลัพธ์ที่ได้ก็สนุกและน่าดึงดุดไม่น้อยเลยครับ เพราะถ้าเราทำดี ๆ เราก็จะได้ผลลัพธ์ที่ทำให้ร้องเพลงได้สนุกขึ้น ระยะเวลาที่ใช้ในการทำคาราโอเกะหนึ่งชิ้น น่าจะอยู่ที่ราวๆครึ่งถึงหนึ่งชั่วโมงต่อเพลง เพราะเป็นงานที่ใช้ความละเอียดในการวางตัวอักษรให้ตรงกับทำนองที่เล่นอยู่ รวมถึงความคิดสร้างสรรค์ในการสร้างลูกเล่นให้ภาพนิ่งและตัวอักษรมีชีวิตชีวาพร้อม ๆ กับความสวยงาม ซึ่งถ้าเป็นมืออาชีพที่ทำงานด้านนี้อยู่แล้ว การทำงาน 1 ชั่วโมงเพื่อการร้องเพลง 3-4 นาที อาจดูไม่คุ้มค่าเสียเท่าไร แต่หากเราให้ระบบนี้แก่หลาน ๆ ที่อยู่ในวัยประถมไปจนถึงมัธยมต้น ระบบนี้น่าจะเป็นประตูทางเข้าไปสู่โลกแห่งการสร้างดิจิตอลมัลติมีเดียคอนเทนต์ได้เป็นอย่างดีเลยล่ะครับ เพราะไม่มีเครื่องมือให้เลือกใช้จนมากเกินไป เหมือนกับเครื่องมือที่มืออาชีพอย่างเรา ๆ ใช้ ทั้งยังให้ผลลัพธ์ที่ทำให้คนทำและคนเสพย์ผลลัพธ์พอใจสนุกสนานอีกด้วย

แขวนไมค์

แม้โดยส่วนตัวจะเป็นคนชอบร้องเพลงกับดนตรีสดมากกว่า แต่ก็ยอมรับว่า Karaoke console เป็นเครื่องมือที่เล่นสนุกและคนรอบข้างก็พลอยสนุกไปด้วย (ขึ้นอยู่กับว่าใครร้องด้วยนะครับ อิอิ) ผลิตภัณฑ์ชิ้นนี้น่าจะเป็นตัวสร้างความแตกต่างให้กับ Hercules ในวงการอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ ในยุคที่ MP3 Player เป็นที่นิยมมาก ๆ อย่างทุกวันนี้ ด้วยความที่ตัวเดียวจบ จะช่วยให้ End User ไม่ต้องคิดมากในเรื่องการจัดหาอุปกรณ์มาใช้ในระบบ ผลลัพธ์ที่ได้มาก็ถือว่าคุ้มเงินที่ต้องจ่ายไป (ขึ้นอยู่กับส่วนอื่น ๆ อย่างลำโพงที่ใช้ด้วยครับ ว่าจะช่วยให้เราคุ้มค่าหรือขาดทุน) มันเหมาะที่จะเป็นอุปกรณ์พื้นฐานที่ใช้กันตามบ้านหรือตามสำนักงานที่ชอบปาร์ตี้คาราโอเกะ และผู้ที่มีเพลงอยู่ในคอมเยอะ ๆ และชอบที่จะร้องคลอไปกับเพลง ซึ่ง Karaoke Console จะช่วยเสริมความสนุกให้เพิ่มขึ้นไปอีกระดับ การทำคาราโอเกะจาก MP3 ด้วยตัวเอง ก็สนุกทั้งคนทำและคนร้อง หากแต่เมื่อชั่งน้ำหนักแล้ว เวลาที่ใช้ไปกับสิ่งที่ได้มาไม่เท่ากัน เราก็ยังสามารถสนุกกับมันง่าย ๆ ด้วยการเปิดเนื้อเพลงจากอินเตอร์เน็ตแล้วร้องตามได้เลย โดยไม่ต้องสนใจตัวอักษรหวือหวา เพราะความสนุกจากการร้องเล่นเต้นรำนั้น มากกว่าอยู่แล้ว

อย่างไรก็ตาม Karaoke Console นั้น ยังมีส่วนที่เครื่องไม่สามารถให้เราได้เหมือนอย่าง DJ Console ครับ DJ Console ยังมีระบบ Auto Mix ที่จะช่วยปรับจังหวะเพลงให้เข้ากันโดยง่าย แต่ Karaoke Console ไม่ได้มีระบบ Auto Tune เพื่อไม่ให้เสียงเพี้ยน ดังนั้นถ้าร้องไม่ดี ก็ให้โทษตัวเอง จะมาโทษเครื่องไม่ได้นะเออ!!

ขอขอบคุณพี่โจแห่ง Pro Plugin (www.proplugin.com) สำหรับการให้ยืมเครื่องมาทดสอบครับ

ความต้องการระบบขั้นต่ำ

  • Pentium III หรือ Athlon 800 MHz ขึ้นไป
  • พอร์ท USB 2.0 หรือ USB 1.1
  • RAM 128 MB หรือสูงกว่า
  • MS-Windows XP
  • การ์ดจอที่สนับสนุน Direct 3D
  • เฮดโฟนหรือลำโพงหนึ่งคู่

ตีพิมพ์ลงใน Sound & Stage ฉบับ March 2007