บทความนี้ตีพิมพ์คร้้งแรกที่ Commusic โดย PHz
Circle Synth ตัวนี้มีดีที่ UI
ในวันที่เราสามารถบันทึกเสียง (Sampling) แล้วนำมาสร้างใหม่ (Resythesis) ได้อย่างง่ายดาย โดยที่ผลลัพธ์นั้นน่าสนใจมากน้อยแค่ไหน กระบวนการ Resynthesis นั้นมีส่วนสำคัญมาก แต่หากเราไม่เคยทำความเข้าใจกระบวนการนี้ ผู้เขียนขอพาท่านผู้อ่านไปรู้จักเครื่องมือที่เหมาะทั้งการเรียนรู้ และการใช้งานครับ
ชื่อของมันคือ Circle จาก Future Audio Workshop
Circle เป็นซินธ์ที่อยู่นอกโลกของ Reaktor นะครับ เป็น Standalone และ Plugin แยกต่างหากไปเลย แต่ที่นำมาแนะนำให้รู้จักก็เพราะว่าระบบ UI (User Interface) ของมันดีมาก UI ในที่นี่ได้ครอบคลุมไปจนถึงสิ่งที่เรียกว่า UX (User Experience) ด้วย ซึ่งเป็นสิ่งที่ต่อให้เราออกแบบซินธ์ได้ดีแค่ไหนบน Reaktor มันก็เลียนแบบ Circle ไม่ได้ อันเนื่องมาจากข้อจำกัดของ Reaktor นั่นเองครับ
เรามาลองดูรายละเอียดของมันกันว่าที่ว่าดีนั้น ดีอย่างไร
แต่ก่อนเราจะเริ่มลงลึกในรายละเอียดต่อไป ผู้เขียนอยากให้ท่านผู้อ่าน ลองดาวน์โหลด Circle ในทดลองเล่นพร้อมกันจาก (www.futureaudioworkshop.com) กันก่อนครับ โดยสามารถใช้ได้ทั้ง Windows และ Mac จะทำให้การอ่านบทความนี้เห็นภาพได้ชัดเจนง่ายขึ้นอีกมาก
ภาพรวม
Circle เป็นซอฟต์แวร์ซินธ์ที่ใส่ความสามารถให้กับตัวเอง จนทัดเทียมซินธ์อื่นๆที่ถือกำเนิดในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน โดยพื้นฐานก็จะเหมือนกับ Subtractive-Analog Synth ทั่วไปครับ คือส่วนประกอบหลักเริ่มจากออสซิลเลเตอร์ ฟิลเตอร์และเอฟเฟกต์ทั่วไป และมอดดูเลเตอร์ กับซีเควนเซอร์ แต่ความน่าสนใจมันอยู่ที่รายละเอียดของส่วนต่างๆ ด้วยหน้าตาที่มีสีดำแบบแกรเดียนท์ (Black Gradient) ตัดกับปุ่มควบคุมต่างๆที่สีสันสดใส ตัวอินเตอร์เฟซของ Circle นั้นถือว่ามีความคอนทราสต์สูง (High Contrast) จนสามารถนำมาใช้กลางแจ้งได้อย่างสบายๆ และก็แบ่งส่วนต่างๆมาอย่างดีจนมองผ่านๆก็พอจะทราบว่าใช้งานมันอย่างไรให้สนุก
โดยหลักๆแล้วอินเตอร์เฟซของ Circle จะแบ่งออกเป็นสามส่วนครับ คล้ายกับการแบ่งส่วนของการใช้เว็บ คือส่วนบนสุด Top Panel ครอบคลุมตั้งแต่โลโก้ FAW ไล่มาจนถึงส่วนของการจัดการพรีเซ็ตไปจนถึง Main Volume
ส่วนต่อมาคือส่วนหลัก Main Panel คลอบคลุมเกือบทั้งหมดที่เราเห็นเป็นซินธ์์คอนโทรล การวางตำแหน่งของส่วนต่างๆ นั้นทำตามประเพณีดั้งเดิมของ Subtractive Synth รุ่นอื่นๆทุกประการ คือการวางไล่ตาม Signal Flow จากซ้ายไปขวา -บนลงล่าง เริ่มจากคอลัมน์ซ้ายสุดออสซิลเลเตอร์ ส่วนคอลัมน์กลางจะเป็น มิกเซอร์->เอฟเฟกต์->VCA (Voltage Controlled Amplifier) และส่วนที่เป็นมอดดูเลเตอร์ทั้งหมดถูกจัดเก็บไว้ในคอลัมน์ขวามือสุด
จุดที่ถือเป็นหมัดเด็ดคือระบบการมอดดูเลทที่ใช้ “จุดสี” มาช่วยให้การมองเห็นกระบวนการจัดการเสียงของเราชัดเจนขึ้น การใช้งานในส่วนนี้คือแค่เราลากตัว “จุดสี” ที่มอดดูเลเตอร์แต่ละตัวจะสีของตัวเอง ไม่มีการซ้ำกัน มาวางตรงตำแหน่งของพารามิเตอร์ต่างๆ เช่น หากเราต้องการนำ Sequencer ซึ่งมีจุดสี (เขียวอมฟ้า) ก็สามารถลากจุดนั้นไปยังตำแหน่งของปุ่มควบคุมพารามิเตอร์นั้นได้เลย (การมอดดูเลท Modulate คือการนำสัญญารควบคุมจากแหล่งหนึ่งเช่น LFO มาควบคุมพารามิเตอร์พื้นฐานของซินธ์เช่น นำค่า Velocity จากคีย์บอร์ด มาควบคุมค่า Coarse ของออสซิลเลเตอร์ ผลลัพธ์คือยิ่งกดคีย์บอร์ดแรงเท่าไร Pitch ของเสียงก็ยิ่งจะมากขึ้นตาม)
ขณะที่ส่วนล่างสุด หรือที่ภาษากราฟฟิกเรียกว่า “ฟุตเตอร์” (Footer) นั้น จะเก็บเมนูที่ถูกซ่อนที่เมื่อเราคลิกที่เมนูเหล่านั้น มันจะมีหน้าต่างเด้งขึ้นมาเหมือนการดึงลิ้นชัก อย่าง Sound Browser, Keyboard , Setting, Effect และ Control ปิดท้ายด้วย Modulation Source ที่รับมาจากคีย์บอร์ดวางไว้ด้านขวาสุดแยกเป็นสัดส่วนชัดเจน หลายสิ่งหลายอย่างในส่วนนี้ก็เป็นมาตรฐานของซินธ์ในวันนี้ (Sound Browser) และบางอย่างก็เป็นการก้าวไปข้างหน้า (OSC) อย่างที่จะพูดถึงต่อไปครับ
เรื่องของเสียง
โดยไม่ต้องสงสัยว่าตัวต้นเสียงอย่างออสซิลเลอร์นั้น มีความสำคัญต่อเสียงสูงสุด ขณะที่ซินธ์อื่นๆในวันนี้นั้นส่วนใหญ่จะเปิดให้เราโหลดเวฟฟอร์มอะไรก็ตามเข้ามาใช้งานในซินธ์ได้แล้ว แต่ Circle ยังจำกัดตัวเอง ไว้กับเวฟเทเบิ่้ลชุดใหญ่หนึ่งชุดเท่านั้น ตรงนี้เราอาจคาดเดากันได้ ว่าเสียงของ Circle จะออกมาตามสไตล์ของ Analog Synth แต่ยังแอบซ่อนความซับซ้่อนของเสียงและอารมณ์ในแบบดิจิตอลด้วยเวฟฟอร์มที่หลากหลาย โดยเรายังสามารถทำ Crossfade (Morphing) ระหว่างเวฟฟอร์มสองตัว ช่วยให้เกิดผลลัพธ์ที่แตกต่างจากการผสมผสานได้อีก ตรงนี้มองในมุมของนักพัฒนา อาจเป็นไปได้ว่าพวกเค้าต้องการให้ซินธ์ออกมาใช้งานได้ง่ายที่สุด เร็วที่สุด โดยใช้เวฟฟอร์มที่คัดสรรมาอย่างดีแล้ว พวกเค้าไมได้่สร้าง Sampler ที่มีคู่แข่งในท้องตลาดมากมาย และแข่งกันที่ตัว Sound Library มากกว่าที่จะแข่งกันที่ความสามารถของซอฟต์แวร์นั้นจริงๆ
ตัวเนื้อเสียงโดยรวมแล้ว อาจจะไม่ได้ทำให้เราต้องร้องซี๊ดจากความหวือหวาและความอ่ิมของเนื้อเสียงแบบ Spectrasonics Omnisphere แต่ Circle ก็ให้เนื้อเสียงที่ถ้าเปรียบเป็นผู้หญิง ผู้เขียนขอใช้คำว่า “น่ารัก” มากกว่าจะ ที่จะพูดว่า “สวย เซ็กซี่” แบบซินธ์อย่าง Omnisphere หรือ NI Massive
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นผู้เขียนตัดสินจากพรีเซต และจากการใช้ส่วนตัวนะครับ นั้นอาจเป็นเพราะว่า Circle เกิดจากความเรียบง่าย ใช้ง่าย เสียงจึงออกมาฟังดูไม่หวือหวา แต่น่ารัก ขณะที่ซินธ์ในรุ่นเดียวกันอย่าง Massive หรือ Omnisphere เกิดจากความอ่ิมของผู้พัฒนาจนสามารถสร้างเครื่องดนตรีที่ซับซ้อนและให้เสียงที่ดุ หนาถูกใจเหล่านักดนตรีได้ Circle กับซินธ์อื่นๆนั้น ถือว่าสร้างมาด้วยแนวคิดที่เป็นขั้วตรงข้ามกันนั่นเองครับ
การใช้งาน
ส่วนนี้ถือเป็นจุดที่เด่นที่สุดของ Circle และถูกพูดถึงเอาไว้บ้างแล้ว เรามาลงรายละเอียดในส่วนที่ยังไม่ได้กล่าวถึงกันครับ
Sound Browser
ในส่วนนี้ทำออกมาได้ตามยุคสมัย มี Attribute (บน Circle จะใช้คำว่า Characteristics) และ Search Engine มี Meta Data สำหรับบอกรายละเอียดที่มา บางท่านที่คุ้นเคยกับซอฟต์แวร์อย่าง NI Kore, Apple Logic อาจคิดว่า Attribute นั้นมีให้เลือกน้อยเกินไป เพราะซอฟต์แวร์ส่วนใหญ่ที่มีระบบ Attribute จะมีให้เลือกมากกว่านี้ (ความมากน้อย เป็นปริมาณสัมพัทธ์ของผู้ใช้แต่ละคน ทางผู่้ผลิตอาจต้องการใช้เพียงเท่านี้แล้วก็ได้) ส่วนตัวผู่้เขียนก็เห็นว่ามีการคัดออกให้เหลือน้อยที่สุดเพื่อความง่ายและความลงตัวของพื้นที่ใช้งาน กล่าวคือหากมีมากกว่านี้ อาจต้องออกแบบหน้าต่างอื่นๆใหม่ๆ เพื่อให้มันดูลงตัว และการมีน้อยๆนั้น ง่ายต่อการเลือกเสียงขึ้นอีกมากเลยครับ
แต่ส่วนที่ถูกตัดทิ้งไปเลย คือระบบ Favorite หรืออย่างน้อยๆระบบการให้คะแนนด้วยดาว 5 ดวงเหมือนกับที่ซอฟต์แวร์อื่นมี ก็ถูกตัดทิ้งไม่นำมาใช้เลยครับ แต่ก็ยังน่าดีใจที่แม้ว่าหลายส่วนถูกตัดทิ้ง แต่ทาง FAW ก็ได้ชดเชยด้วยการเปิดให้โหลดชุดเสียงมาเพิ่มได้เรื่อยๆและฟรีๆจากทางเว็บของ FAW เองอีกด้วย
การออกแบบเสียง
ถ้าคุณผู้อ่านเคยประทับใจความเรียบง่ายของการออกแบบเสียงของ Subtractor ซินธ์บน Reason ประทับใจระบบการมอดดูเลชั่นแบบไร้สาย (Wireless Modulation) ของ NI Massive และ U-He Zebra คุณจะต้องประทับใจ Circle ในระดับที่มากขึ้นไปอีก เพราะนอกเหนือจากที่กล่าวมาทั้งหมด Circle ยังมีระบบการแสดงภาพ (Visual Communication) ที่ช่วยให้เรามองเห็นกระบวนการทำงานของซินธ์ตัวนี้ได้อย่างทะลุปุโปร่ง มีการใช้จุดสีสำหรับการระบุตำแหน่งเวลาบน Envelope การบอกว่า Modulator ตัวไหน มีผลต่อเอฟเฟกต์อะไรบ้าง ก็ใช้จุดสีเล็กๆและมีการซ่อนความมากน้อยของเอฟเฟกต์ (Depth) ของ Modulator ตัวนั้นเอาไว้ ขณะที่ซินธ์อย่าง Massive เลือกที่จะสื่อสารกับโปรด้วยกัน ด้วยการแสดง Depth ของ Modulator นั้นๆออกมาในคราวเดียว ซึ่งแม้จะดูดีมาก แต่ผู้เขียนถือว่าเป็นการสร้างความสับสนให้กับผู้ใช้มือใหม่ที่เพิ่งก้าวมาสู่โลกของซินธีซิสได้มาก จนแทบอยากปิดหน้าจอซินธ์ทิ้งไปเลยทีเดียว
เส้นทางเดินสัญญาณทั้งหมดบน Circle สังเกต Tuned Delay Line สำหรับใช้ทำ Feedback
วิธีการนี้เป็นวิธีการเดียวกับที่นักออกแบบกราฟฟิก ทำในสิ่งที่เรียกว่า “Problem Solving” หรือการรวบรวมสิ่งที่เรียกว่า “ปัญหาของการใช้งานซินธ์” โดยเฉพาะกับบรรดามือใหม่ และผู้สร้าง Circle ได้ออกแบบซินธ์ตัวนี้เพื่อแก้ปัญหาที่กล่าวมาได้อย่างดีเยี่ยม
แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า Circle เป็นซินธ์ที่สมบูรณ์แบบไม่มีที่ตินะครับ จากที่กล่าวในรายละเอียดมาเราจะพบว่าการที่ Circle นั้นจะถูกลดทอน หรือถูกซ่อนบางอย่างไป มันคือการเหวียง “น้ำหนัก” ไปที่ฝั่ง Minimalism มากกว่า ดังนั้นผู้ชอบเล่นซินธ์ในลักษณะของ Maximalism Interface/Complexity Sound ก็น่าจะชอบอะไรที่ตรงกันข้ามอย่าง NI Massive มากกว่า
และการลดทอนในเรื่องของกราฟฟิกนั้นไม่ได้มีผลต่อโมดูลต่างๆของซินธ์ด้วย เราจะเห็นว่า Circle มีโมดูลครบเครื่องตามมาตรฐานปัจจุบัน ตั้งแต่ออสซิลเลเตอร์ถึง 4 ชุด +Noise กับ +Feedback อีกอย่างละชุด ซึ่งอย่างหลังสุดนั้นช่วยสร้างผลลัพธ์ได้อย่างน่าสนใจมากๆ ส่วนเอฟเฟกต์ก็ขนมาให้เลือกใช้กันอย่างเต็มพิกัด ซ่อนอยู่ใน Signal Path ถึง 2 สล๊อตไม่รวมฟิลเตอร์และยังมี Master Effect มาให้ใช้กันอีก 3 สล๊อต ประเภทของเอฟเฟกต์นั้นเราก็นึกถึงกันได้ ที่ผู้เขียนสนใจก็มี “Mouth Filter” หรือบางซินธ์จะเรียก Vowel Filter หรือ Formant Filter
ส่วน Filter ที่ฝังอยู่บน Signal Path ก็ยังใช้ได้สูงสุดพร้อมกันถึง 2 ตัว แต่จุดที่ผู้เขียนรู้สึกแปลกๆคือเราไม่สามารถคลิกลากตัวจุดตัดของ Filter ได้จากกราฟฟิกตรงๆ (ตามมาตรฐานอินเตอร์เฟซของฟิลเดอร์แบบนี้) นอกจากคลิกที่ปุ่มเลื่อนของมันเท่านั้น ทำให้เราไม่สามารถควบคุม Cutoff พร้อมๆกับ Resonance ได้จากเมาส์พร้อมๆกัน แบบซินธ์ตัวอื่น และผู้เขียนเองก็ยังไม่เห็นเหตุผลว่าทำไมถึงห้ามทำเช่นนั้น เพราะในการคลิกที่ตัวกราฟของส่วนที่เป็น Modulator นั้น Circle ทำมาได้เด็ดขาดมากๆ
Modulator นั้นก็จะมีให้เลือกใช้สูงสุดถึง 5 สล๊อตพร้อมกัน ยังไม่รวมที่รับมาจากคีย์บอร์ดอีก 3 ชุด และไม่นับที่ตัวออสซิลเลเตอร์เองก็ยังสามารถทำหน้าที่เป็น Modulator ได้
โดยเราสามารถเลือกใช้งานได้จาก Modulator 3 ประเภทคือ Envelope, LFO และ Sequencer ได้อย่างเต็มที่เช่น เราอยากให้ Envelope เป็น Modulator ทั้ง 5 สล๊อตเลยก็ยังได้ น่าเสียดายนิดที่ Envelope ยังเป็นแบบ ADSR ธรรมดา ไม่ได้เป็นแบบ Multi Breakpoint เหมือนกับซินธ์โปรตัวอื่นๆ เหตุผลคือเรื่องของความง่ายเป็นหลัก เมื่อเราคลิกที่จุด Breakpoint มันจะแสดงเวลาเป็นวินาทีชัดเจนว่าจุดนั้นเริ่มทำงานที่เวลาเท่าใด และเมื่อเรากดคีย์บอร์ดใช้งานจะมีตำแหน่งล่าสุดบน Envelope แสดงบอกไว้ด้วย เช่นเดียวกับที่แสดงบน Sequencer และบน LFO ที่จะแสดงตำแหน่งของค่าปัจจุบันที่ทำงานให้เราเห็นกันชัดๆ
คีย์บอร์ดของเรายังทำหน้าที่เป็น Modulator Source ได้อีก 3 อย่างครับ คือใช้ Keyboard Track (ตำแหน่งของคีย์จากซ้ายไปขวา สามารถใช้เป็นมอดดูเลเตอร์ได้ เช่นให้คีย์สูงมอด Low Pass ให้สูง เพื่อให้เสียงที่ใสกว่าช่วงคีย์ต่ำ) ถึง 2 ชุด แต่ละชุดเราสามารถตั้งกราฟความสัมพันธ์ระหว่างตำแหน่งของคีย์กับค่า Dept ของการมอด ซึ่งตรงนี้ถือว่าน่าสนใจมาก ส่วน Velocity เป็นตัวมอดมาตรฐานอยู่แล้ว Circle ยังมี Arpeggiator ในตัว ซึ่งจะอยู่ด้านซ้ายของ Tab ซ่อนของคีย์บอร์ด ทั้งส่วนของ Arpeggiator และส่วนของเอฟเฟกต์นั้นชวนให้นึกถึง Ableton Live ไม่น้อยเลยครับ
Open Sound Control
Circle อาจไม่ใช่ซินธ์ตัวแรกที่สนับสนุน OSC ตรงๆแบบนี้ แต่ต้องยอมรับว่า มันเป็นซินธ์สำหรับ End User ตัวแรกที่สนับสนุน OSC อย่างเต็มที่ เคียงคู่กับ MIDI อย่างเต็มภาคภูมิ ต้องขอบคุณการบุกเบิกของ Control Surface อย่าง Lamur, Monome ไปจนถึงซอฟต์แวร์ราคาไม่แพงบน iPhone/iTouch ที่ล้วนแล้วแต่มีส่วนสำคัญให้ OSC เติบโตขึ้นเรื่อยๆ
OSC หรือ Open Sound Control เป็น Control Protocol (แบบเดียวกับ MIDI) ที่คิดค้นกันโดยแวดวงวิจัยด้านเทคโนโลยีดนตรีครับ เริ่มต้นเมื่อปี 1997 เติบโตอย่างช้าๆเพราะการที่มันไม่ได้สนับสนุนโดยผู้ผลิตเครื่องดนตรีรายใหญ่ หากแต่ได้รับการสนับสนุนจากผู้ผลิตซอฟต์แวร์ที่ก้าวหน้าหลายๆราย ข้อดีของ OSC ก็คือการที่มันใช้ Network Interface ที่เราใช้กันอยู่แล้ว และปิดข้อจำกัดต่างๆของ MIDI ไปแทบหมดสิ้น การที่ Circle ก้าวเข้ามาใช้ OSC ถือเป็นการเปิดทางที่ดีครับ เพราะก่อนหน้าซอฟต์แวร์ที่สนับสนุนมักจะเป็นซอฟต์แวร์แบบปลายเปิดแต่เพียงเท่านั้น
OSC บน Circle นั้นถือว่าทำมาได้เข้าใจง่ายมาก ตรงที่มันใช้แนวคิดเดียวกับการเรียกเว็บเพจโดยใช้ URL หนึ่ง URL คือหนึ่งเพจ ปุ่มควบคุมต่างๆก็จะมี Control Address เป็นของตัวเอง แต่ถ้าเทียบกับ MIDI แล้ว ก็ถือว่ามันยังไม่ง่ายเท่าไร ส่วนหนึ่งเกิดจาก มันมีโครงสร้างแตกต่างกันครับ ขณะที่เราคุ้นเคยกับ CC (Control Change) ของ MIDI แต่ OSC จะเป็น Control Address กับ IP/Port ซึ่งถ้าเป็นคนที่เข้าใจระบบเน็ตเวิร์กของคอมพิวเตอร์อยู่แล้วจะใช้งาน OSC ได้สบาย
ใน Tab ของ Control (OSC) ยังมีความพิเศษเล็กๆน้อยๆสำหรับ Mac User อีกหนึ่งอย่าง นั่นคือการที่เราสามารถใช้ “Apple Remote” สำหรับการเปลี่ยนพรีเซ็ตเสียงได้ แค่คลิกปุ่มเปิดการใช้งานที่ซ่อนอยู่ใน Tab นี่ ก็สามารถใช้ Apple Remote ได้ทันทีครับ
Perfect Circle
นับเป็นอีกหนึ่งซินธ์ที่เล่นสนุกมากๆ และเหนือกว่าสิ่งอื่นใดคือ Circle ยังเป็นเครื่องมือในการเรียนรู้การออกแบบเสียงได้เป็นอย่างดีเลยครับ ราคาของ Circle นั้นเป็นไปตามมาตรฐานของซอฟต์แวร์ซินธ์คืออยู่ที่ $69
ท่ามกลางการแข่งขันอย่างดุเดือดระหว่าง Features, Sound Library, Interface และความสวยงามของหน้าตา Circle นั้นจะยังคงมีที่ยืนอยู่ด้วยความง่ายในการใช้อย่างไม่มีใครเหมือน โดยไม่ต้องมีหน้าตาที่อลังการ หรือเสียงที่ฟังแล้วนักดนตรีแทบอยากจะลงมือเล่นด้วยตัวเอง แต่ Circle มีความ “พอเพียง” และลงตัว จนหลายครั้งต้องมาตั้งคำถามกับตัวเองว่า “เราจะต้องการอะไรมากไปกว่านี้อีก?”
เสียงจากซินธ์ Circle
Circle Synth User Group