ช่วงนี้ผู้เขียนออกจะหลงใหลในดนตรีรีโทรแบบ 8 บิตชิพจูนที่เราเคยฟังกันมาตั้งแต่สมัยเครื่องเล่มเกมนินเทนโด หากท่านผู้อ่านอยากได้ซาวน์นินเทนโดแบบวง YMCK เลย ก็ลองเข้าไปดาวน์โหลดปลั๊กอินได้จากเวปไซต์ของ YMCK (www.ymck.net/enlish/index.html) เข้าไปแล้วมองหา “Magical 8 Bit Plug” ซึ่งเป็นอินสตูเมนต์ที่เรียบง่ายมาก ๆ ไม่มีหน้าตาเพราะขึ้นอยู่กับโปรแกรมโฮสต์ที่เราใช้ แต่ผลลัพธ์จากการใช้ถือว่าเยี่ยมเลย หรือถ้าจะมองหาอะไรมากกว่านั้น เราอาจใช้ Max/MSP หรือ Pure Data ซึ่งจะมีออบเจกต์ที่จำลองเสียงเครื่องเกมต่าง ๆ อย่าง Atari, Game Boy, NES รวมไปถึง VST สำเร็จรูปด้วย โดยดาวน์โหลดได้ที่ www.mmonoplayer.com/projects.html

 

มาเข้าเรื่อง Reaktor กันบ้าง เราอาจเสียเวลาหนึ่งวันในการสร้างอินสตรูเมนต์จำลองซาวน์ชิพจูนอย่างที่กล่าวมาข้างต้นได้ครับ แต่อยากแนะนำให้ลอง Oki Computer ซึ่งเป็นหนึ่งในคลาสสิคอินสตรูเมนต์ของ Reaktor และใน Reaktor 5 ก็จะติด Oki Computer เวอร์ชัน 2 มาให้เลย หรือถ้าเราอัพเดทเป็น Reaktor 5.1 แล้ว เราก็จะได้เล่น Oki Computer 2.1 เช่นกัน ไม่รอช้า เรารีบเปิด Oki Computer มาค้นหาความหมายจากมันกันดีกว่า!! (ผู้เขียนอ้างอิงจากเวอร์ชัน 2.1)

 


Oki Computer เป็น Wavetable Synth ครับ ในทางเทคนิคแล้วมันก็เหมือนกับ Sampling Synthesis ที่กลายเป็นมาตรฐานของซินธ์ในวันนี้ไปแล้ว แต่ในกรณีของ Oki Computer จะเป็น Wavetable ของคอมพิวเตอร์หรือซาวน์การ์ดที่จะเก็บเวฟฟอร์มเล็ก ๆ ใช้หน่วยความจำน้อย ๆ เอาไว้ แล้วค่อยเรียกขึ้นมา Playback ที่ระดับ Pitch ต่าง ๆ

สิ่งแรกที่อยากให้ทำก่อนก็คือ ให้เลือกโปรแกรมเสียงแรก “Default” ก่อนครับ ที่โปรแกรมนี้ เราจะใช้มันเริ่มต้นที่จะสร้างเสียงด้วยตัวเอง หรือเราอาจคุ้นเคยกับชื่อเรียก “Initial Program” หรือ “init_program” ฯลฯ


 

ลองดูในส่วนของ Oscillator นะครับ เราจะเห็นว่าเวฟฟอร์มเริ่มต้นคือ Sine Wave ลอง Drag ที่ “wave” ดูนะครับ เราจะใช้เลือกเวฟฟอร์มซึ่งมีให้เลือกทั้งหมดกว่า 50 แบบ ส่วนพารามิเตอร์ที่อยู่ถัดไปทางขวาจาก “wave” จะใช้ในการตกแต่งปรับเปลี่ยนเวฟฟอร์ม ลองขยับดูทีละตัวนะครับ เราจะเข้าใจความแตกต่างและวิธีการใช้พารามิเตอร์เหล่านี้อย่างเห็นได้ชัด แค่ส่วนนี้ส่วนเดียว ผุ้เขียนก็เห็นว่ามันเป็นเครื่องมือที่ทำหน้าที่ได้กว้างกว่าซอฟต์แวร์ปลั๊กอินทุกตัวที่แนะนำมาในตอนต้นบทความแล้วครับ เพียงแต่ว่า บางครั้งเราก็ต้องการใช้งานเครื่องมือที่ “ง่าย เร็ว ตรงประเดน” เช่นกัน ดังนั้นเครื่องมือที่แนะนำมาในตอนต้นก็ยังน่าใช้เช่นกันครับ

 

            

ไฮต์ไลท์ของ Oki Computer นั้นอยู่ที่ Wavetable Slot ครับ เราสามารถที่จะโหลด Wavetable ได้ 16 แบบ ลง 16 Slot (สีเขียวสลับเทาที่เห็นหนึ่งช่อง เป็นตัวแทนของ 1 Slot) แล้วเราสามารถ Morph Wavetable ใน Slot ใกล้กันได้ เพื่อสร้างไดนามิกของเนื้อเสียงครับ อธิบายไปก็เข้าใจยาก ลองโหลดเวฟฟอร์มที่แตกต่างกันลง Slot แรก-Slot สอง-Slot สาม… ไปเรื่อย ๆ ถึงแค่ไหนก็ตามต้องการครับ

            

หลังจากโหลดเวฟฟอร์มลง Wavetable Slot จนพอใจแล้ว ทดลองเล่นโน้ตพร้อม ๆ กับหมุนปุ่ม Wavetable Position ไปทางขวาดูนะครับ เราจะเห็นว่าในระหว่างที่เราหมุนปุ่มนั้น ภาพของเวฟฟอร์มก็จะค่อย ๆ เปลี่ยนไปเรื่อย ๆ ไม่หยุดนิ่ง และเสียงที่ได้จะดูมีชีวิตชีวากว่าตอนเริ่มต้นที่เรายังไม่ได้ปรับเปลี่ยนอะไร ตรงส่วนนี้แหละครับ เป็นกลจักรสำคัญที่ทำให้ Oki Computer สร้างเสียงได้กว้าง แม้ว่าเสียงโดยรวมจะฟังดูเหมือนเสียงสังเคราะห์จากคอมพิวเตอร์ก็ตาม (ก็ Oki Computer นิเนอะ)

 

ที่นี้อาจเกิดคำถามจากผู้ที่เพิ่งก้าวเข้ามาในดินแดนแห่งการสังเคราะห์เสียงว่า “แล้วเราต้องหมุนปุ่มนี้ทุกครั้งที่เราเล่น เพื่อให้ได้เสียงที่หลากหลายใช่ไหม…?”

 

คำตอบก็คือไม่จำเป็นครับ เพราะเราสามารถที่จะสร้าง Automation ผ่านระบบ Modulation ของซินธ์ได้

 


ลองดูในส่วนล่างสุดของหน้าพาเนลนะครับ เราจะเห็น Modulation Matrix ซึ่งถ้าหากเป็นคนที่เล่นซินธ์มาก่อน จะเข้าใจได้ทันทีว่า เราจะใช้มันทำอะไรได้บ้าง แต่ถ้าเพิ่งรู้จัก ก็ลองเลือก Modulation Source (บรรทัดบน) มาซักหนึ่งตัว อาจเป็น e1, e2, table หรือ lfo มาตัวใดตัวหนึ่งก็ได้ แล้วเลือก Modulation Destination (บรรทัดล่างสุด) คือ “wave” ต้องไม่ลืมที่จะตั้งค่า Modulation Depth (บรรทัดกลาง) ให้ออกไปทางขวาสุดหรือซ้ายสุด เพื่อที่จะได้เห็นผลลัพธ์กันชัด ๆ เมื่อทุกอย่างเรียบร้อยแล้วก็ลองเล่นโน้ตดูครับ

 

เราจะเห็นว่าการ Modulation คือการนำสัญญาณหนึ่ง ไปเปลี่ยนหรือมีอิทธิพลต่อสัญญาณหนึ่ง Modulation Matrix ก็คือตารางที่เราจะเชื่อมต่อการ Modulation นั้นเอง เราจะเห็นว่าในตารางจะแบ่งเป็น 4 คอลัมน์ เพื่อจับคู่ Modulator กับ Source ได้ 4 คู่ Modulator ก็คือสัญญาณอย่าง e1, e2 หรือ envelope 1, envelope 2 หรือซินธ์บางตัวจะใช้คำว่า Envelope Generator มันก็คือสัญญาณแบบหนึ่ง ที่มีกราฟเหมือนในรูป


แกนนอนก็คือเวลา แกนตั้งก็คือ Amplitude ซินธ์โดยทั่วไปจะใช้ Envelope ไปส่งผลโดยตรงกับ Amplitude ของ Oscillator (เรียก Amplitude Envelope) หรือไปส่งผลต่อการทำงานของฟิลเตอร์ (เรียก Filter Envelope) แต่ใน Oki Computer มันจะเปิดให้เราเลือกใช้มันได้อิสระครับ ไม่ได้ Hard-Wire เอาไว้

        

LFO หรือ Low Frequency Oscillator ก็เช่นกันครับ มันคือสัญญาณไซน์ความถี่ต่ำมาก ๆ เพื่อนำไปใช้เป็น Modulator ในซินธ์ตัวนี้ LFO จะมีความถี่ต่ำกว่า 33.33 Hz ลงไป ซึ่งเราก็สามารถใช้มันเป็น Modulator เช่นกัน เป็นโมดูลพื้นฐานที่ซินธ์เกือบทุกตัวจะมีกันอยู่แล้ว

    

แต่ Modulator ที่เป็นไฮต์ไลท์ของ Oki Computer ก็คือตัวนี้ครับ Table เป็น Step Function ให้คิดเสียว่ามันก็คือ Envelope ที่มีรูปแบบเป็น Step หรือเป็นลำดับขั้นบันได ลองใช้มันไป Mod “Wave” แบบเพียว ๆ แล้วตั้ง Modulation Dept ให้สุด ๆ ดูนะครับ เราจะเห็นการวิ่งข้ามไปข้ามมาของ Wavetable Slot อย่างน่าปวดหัวจริงเชียว!!

 

                

Oki Computer ยังแอบมีความพิเศษเล็ก ๆ อีกอย่างหนึ่ง นั้นก็คือการที่เราสามารถบันทึกค่าของ CC1 (Control Change #1) ซึ่งปกติจะรับค่า CC1 มาจาก Modulation Wheel บนคีย์บอร์ดนั้นเอง เราจะใช้ CC1 บนซินธ์ตัวนี้ได้ก็ต่อเมื่อเรากำหนด Modulation Destination ที่ Mod Matrix ให้กับมันเสียก่อนนะครับ ไม่อย่างนั้นมันจะไม่มีผลอะไรเลย เราสามารถกดบันทึกการเปลี่ยนแปลง CC1 และนำมา Playback อีกครั้งในตอนที่เราเล่นซินธ์ ซึ่งฟังก์ชันแบบนี้นั้นใช้กันเยอะมากบน Reaktor ครับ อินสตรูเมนต์ที่เอามาใช้เล่นสนุก ๆ ก็คือ “Metaphysical Function” ไว้ถ้ามีโอกาส จะขอนำมา Walkthrough กันครับ

 

ยังเหลือส่วนสำคัญที่ยังไม่ได้อธิบายก็คือ เอฟเฟกต์ Chorus

    

ซึ่งเป็นเอฟเฟกต์พื้นฐานที่นักดนตรีคุ้นเคยกันดีอยู่แล้ว แต่ขอให้ดูที่ปุ่มขวาสุดให้ดีครับ มันคือ Bit Depth Mode ความสำคัญก็คือเราจะใช้มันทำซาวน์ Digital Lo-Fi แม้ว่าเราจะสามารถปรับแต่งความเป็นดิจิตอลได้จากพารามิเตอร์ “digi” ที่ Wavetable อยู่แล้ว แต่ Bit Depth Mode นี้จะใช้ปรับซาวน์โดยรวมทั้งหมดครับ ถ้าอยากได้ซาวน์ Lo-Fi มากเท่าไร ก็ลองหมุนปุ่มไปทางซ้ายดูครับ

 

ส่วนที่เหลือที่ไม่ได้นำมาอธิบาย อย่าง Filter, Distortion, Mono-Poly ฯลฯ มือใหม่สามารถทำความเข้าใจได้ไม่ยาก และโดยรวมแล้ว Oki Computer ก็เป็นซินธ์ที่เล่นง่ายอยู่แล้ว ถ้าโปรแกรมเสียงดี ๆ เราจะได้เสียงที่มีเสน่ห์มาก ผู้เขียนแนะนำว่าถ้าอยากทำเพลงแนว 8-บิตชิพจูน ก็ลองใช้ Plug-in ที่แนะนำไว้ในตอนต้นก่อนครับ แล้วถ้ารู้สึกเบื่อเสียง อยากได้อะไรที่เป็นมากกว่านั้น ก็ลองมาหารสชาติใหม่ ๆ จาก Oki Computer ดู ไม่ผิดหวังแน่นอน