DIY นำ Monome มาแนะนำตั้งแต่ครั้งยังออกมาใหม่ ๆ แต่เนื่องจากราคาของมันทำให้ผมมองข้ามไปตั้งแต่ทีแรก แต่สุดท้ายก็มาหลงเสน่ห์หลาย ๆ อย่างจากตัวมัน อย่างแรก มันเป็นโอเพ็นซอร์สทั้งฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ที่ใช้เล่น ทำให้มีคนทำ Monome Clone ออกมามากมาย และซอฟต์แวร์ที่ใช้เล่นกับมันที่ส่วนใหญ่ทำมาจาก Max/MSP นั้น มีการพัฒนาอยู่ตลอด และมีออกมาใหม่ให้เลือกเล่นด้วย ๆ อย่างที่สองคือทำมันด้วยมือและวัสดุที่เป็นมิตรกับธรรมชาติ ทำให้ราคาของมันสูงกว่าเครื่องดนตรีที่มีลักษณะคล้ายกัน และการที่มันทำมาอย่างจำกัด ทำให้คุณค่าในการครอบครองนั้นสูงขึ้นอีก นอกเหนือจากวิธีการเล่นที่มีความเป็นเอกลักษณ์ ไม่ใช่แค่นำมาทริกเกอร์เสียงตามปกติ แต่เรายังสามารถนำมาใช้แสดง Visual Feedback หรือรูปแบบการเล่นแบบ Game of Life ก็ยังได้

 หลังจากรุ่นแรกเลิกผลิตลง (ทั้งรุ่นธรรมดาและรุ่น se) ก็ไม่มีการผลิตเพิ่มอีก นอกเหนือจากการขายชุด Kit ให้เราซื้อมาประกอบเอง ชุด Kit นั้นมีอุปกรณ์แทบทุกอย่างที่จำเป็น นอกจากตัวกล่องหรือตัวบอดี้ที่เราต้องทำเอง ทำให้ผมเสียเวลาอยู่นาน เพื่อหาคำตอบว่าจะสามารถทำกล่องดี ๆ ให้มันได้หรือเปล่า และตอนนี้ถือเป็นข่าวดีจริง ๆ ที่ทางผู้ผลิตได้ประกาศวันเวลาจัดจำหน่าย Monome รุ่นที่สองครับ

สิ่งที่เปลี่ยนไปเริ่มตั้งแต่ชื่อเลย ชื่อเดิมคือ 40h (ตัว h มาจาก hexadecimal หมายถึงเลขฐานสิบหก) มาเป็นรุ่น 64 (ฐานสิบ) ซึ่งมีค่าเท่ากัน (40h = 64) และยังมีรุ่นพิเศษ 128 และ 256 ซึ่งใหญ่กว่า 2 เท่าและ 4 เท่าตามลำดับ ขยายขอบเขตการแสดง Visual และตำแหน่งการกดได้อีกมาก

ตัวปุ่มคีย์แพดก็เปลี่ยนใหม่ด้วยครับ ที่น่าสนใจคือตัวกล่องจะหุ้มไม้วอร์นัตสีดำอย่างในรูป และใช้งานกับโปรแกรมเดิมได้ทั้งหมด รุ่นแรกที่จะชิปในกลางเดือนตุลาคมคือรุ่น 256 เปิดให้จองล่วงหน้า 2 สัปดาห์ ส่วนรุ่น 128 และ 64 จะตามมาภายหลังไม่เกิน 6-8 สัปดาห์ครับ

สำหรับราคาก็

  • two fifty six: $1400
  • one twenty eight: $800
  • sixty four: $450

งวดนี้ผมไม่พลาดแน่นอนครับ

ที่มา monome ผ่าน cdm