ตีพิมพ์ครั้งแรก The Absolute Sound & Stage November 2007

อินเตอร์เฟสหลักชอง Nuendo 4

ต้องยอมรับว่าการเปิดตัว Nuendo 4 นั้น ได้กระแสตอบรับค่อนข้างเงียบ เมื่อเทียบกับการเปิดตัว Cubase 4 เมื่อปีที่แล้ว เหตุผลหนึ่งอาจเป็นเพราะมันไม่มีอะไรน่าตื่นเต้น โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับการเปิดตัวก่อนหน้าไม่ถึงเดือนของ Logic Studio ที่มีความน่าสนใจอยู่หลายข้อ ไม่นับความสามารถ หากมองกันที่เรื่องของราคาแต่เพียงอย่างเดียว Nuendo 4 ก็ยังแพงกว่า Logic Studio ถึง 5 เท่า หรือจากการวิเคราะห์ของผู้เขียน คงต้องยอมรับว่าหากราคาเท่ากัน Logic Studio ก็ยังมีความน่าสนใจมากกว่า เพราะสิ่งที่ Logic Studio ให้มานั้น ครบเครื่อง พร้อมลุยได้ทันที ตั้งแต่การแสดงดนตรี ไปจนถึง Post Production ขณะที่ Nuendo 4 แม้จะมีเครื่องมือมาให้ประมาณหนึ่ง แต่ก็ต้องการอะไรเพิ่มอีกมากกว่าจะเทียบเท่า Logic Studio เอาแค่เฉพาะแค่ความต้องการในการ Render เสียงออกมาเป็นฟอร์แมท AC-3  ถ้าเป็น Nuendo 4 ก็ต้องหา (ซื้อ) Plug-In มาเพิ่มกันจ้าระหวั่น ขณะที่ Logic Studio มี Compressor เครื่องมือในการแปลงไฟล์ ติดมาให้ในชุดอยู่แล้ว อย่างไรก็ตามครับ ผู้เขียนเห็นว่า Steinberg-Yamaha ยังมีทีเด็ดอีกอย่างในแง่การสนับสนุนการขาย Hardware-Software กันและกันได้อย่างลงตัว โดยเน้นไปที่คีย์บอร์ดเวิร์กสเตชั่นของ Yamaha เฉกเช่นเดียวกับค่ายที่เก่งเรื่องการขายสินค้าสนับสนุนกันอย่าง Apple ที่ทำกับคอมพิวเตอร์และ Digidesign ที่ทำกับซาวน์การ์ดและคอนโซล เป็นเรื่องน่าติดตามมากที่บริษัทซอฟต์แวร์ DAWs โดด ๆ อีกหลายค่าย (ยกตัวอย่าง Cakewalk ที่ทำ DAWs มานานหลายสิบปี) จะปรับตัวเพื่อรับมือกับเรื่องนี้อย่างไร..?

Mod Machine เอฟเฟกต์กลุ่มมอดดูเลเตอร์ มี Flow Graph แสดงทางเดินของสัญญาณช่วยให้เข้าใจง่าย

การเปรียบเทียบ DAWs ด้วยกันนั้น เป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนและซับซ้อน เราจึงไม่ค่อยเห็นนักเขียนด้านเทคโนโลยีดนตรีทำกันเท่าไรครับ เนื่องจากใช้เวลามาก และแง่มุมต่าง ๆ ที่สนใจนั้น อาจครอบคลุมได้ไม่ทั้งหมด เพราะแต่ละคนต่างก็มีความสนใจและความต้องการในการใช้ DAWs ไม่เหมือนกัน แต่การเปิดตัว Nuendo 4 นั้นดึงความสนใจของผู้เขียนได้อย่างหนึ่ง คือเรื่องของ VST3 ครับ เพราะมองย้อนกลับไปเมื่อ 10 ปีก่อนที่มาตรฐาน VST (Virtual Studio Technology) เปิดตัวเป็นครั้งแรกถึงปัจจุบัน เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่ามันมีความยิ่งใหญ่ในฐานะผู้ผลักดัน Virtual Studio ให้แพร่หลายในปัจจุบันมากเพียงไหน มันก็ชวนให้สงสัยยิ่งนักว่า VST3 จะยังคงความยิ่งใหญ่ได้ดังเดิมหรือเปล่า เพราะในวันนี้ไม่เหมือน 10 ปีก่อนที่ยังไม่มีมาตรฐานทางเลือกที่หลากหลายเฉกเช่นในปัจจุบัน ไปจนถึงการเติบโตของฟอร์แมทคู่แข่งอย่าง Audio Units (AU) ที่ปลุกปั้นโดย Apple เพราะแม้ AU จะอยู่บนแพลตฟอร์ม Mac OSX เท่านั้น แต่ VST ก็เป็นมาตรฐานที่ใช้บน Mac OS ด้วย ทำให้เราสนใจว่า VST3 จะสามารถที่จะผลักดันให้คู่แข่งอื่น ๆ พัฒนามาตรฐานให้ทัดเทียมกันได้หรือไม่ และอย่างไร?

Multiband Compressor ช่วยให้เราจบงานได้เลย โดยไม่ต้องใช้ Editor ตัวอื่น

VST3 เริ่มต้นใช้จริงแล้ว บน Cubase 4 และ Nuendo 4 ครับ โดยมีเอฟเฟกต์และอินสตรูเมนต์มากมายในฟอร์แมท VST3 ที่พัฒนาโดย Steinberg ให้เลือกใช้กัน แต่เหล่านักพัฒนาทั่วโลกจะเริ่มพัฒนาซอฟต์แวร์ VST3 ออกมา ก็ต้องรอให้ทาง Steinberg ปล่อย SDK (Software Development Kit) ในช่วงต้นปีหน้าครับ เรามาดูรายละเอียดเพื่อเตรียมตัวเตรียมใจกันว่า เราจะได้อะไรเพิ่มจาก VST3 บ้าง…

ประสิทธิภาพที่ดีขึ้น

การทำงานหนัก ๆ ของ CPU นั้น ตัวปัญหาหลักที่ใช้ CPU มากที่สุดคือปลั๊กอินต่าง ๆ นั้นเองครับ VST3 จะมีระบบการจัดการคำนวณของปลั๊กอินดีขึ้น โดยเฉพาะเมื่อเราใช้งานปลั๊กอินคราวละมาก ๆ ตัวอย่างง่าย ๆ คือในตอนที่ไม่มีเสียงส่งเข้าปลั๊กอิน แค่มันปิดการทำงานไปชั่วคราวจนกว่าจะมีเสียงเข้ามาใหม่นั้น ก็ลดการคำนวณของ CPU ไปได้มากโขแล้ว ก่อนหน้านี้ระบบจัดการตรงนี้ ผู้พัฒนา VST Host ต้องจัดการกันเองครับ มันจึงเป็นเรื่องที่ดีที่ VST3 จัดมาให้เลย

Multiple Dynamic I/O

ระบบนี้จะช่วยปรับเปลี่ยนช่องสัญญาณเข้าออกให้เหมาะสมเองครับ ยกตัวอย่างหากเราส่งสัญญาณ Stereo เข้าปลั๊กอิน VST3 บน Nuendo 4 มันก็จะทำงานในโหมด Stereo แต่หากเราส่ง 6 ช่องสัญญาณ (5.1) เข้าไปปลั๊กอินตัวเดียวกัน มันก็จะเปลี่ยนไปทำงานในโหมด 5.1 ซึ่งจะโปรเซสสัญญาณแยกกันอย่างที่เราเข้าใจ ทำให้ VST3 สามารถเป็น Surround Plugin ที่ทำงานในโหมด Stereo ก็ได้

Side Chaining

สิ่งนี้เป็นที่ต้องการของผู้เขียนมาช้านาน เพราะก่อนหน้านี้ต้องใช้ปลั๊กอินที่ตั้งใจทำมาสนับสนุน Side Chaining เท่านั้น แต่คราวนี้มันผนวกเข้าเป็นมาตรฐานหนึ่งใน VST3 เลยครับ โดยมันจะมี Aux Bus ในปลั๊กอิน VST3 โดยอัตโนมัติ ช่วยให้เราสามารถ Route สัญญาณอื่น ๆ จาก Mixer วิ่งมาเข้า Bus นี้ ซึ่งต่อแต่นี้ Side Chaining จะไม่เพียงใช้กันเฉพาะ Compressor, Gate หรือปลั๊กอินจัดการไดนามิกอื่น ๆ เท่านั้น แต่เรายังสามารถเล่นกับเอฟเฟกต์อย่าง Chorus, Delay ฯลฯ ได้ด้วย

Ramping Automation/sample accurate automation

ดนตรีบางประเภทอย่าง Electronic ที่ต้องการรายละเอียด Automation ที่แม่นยำมาก ๆ จะได้ประโยชน์จากส่วนนี้ครับ ผลพวงจากการเพิ่มความละเอียดทางเวลาของข้อมูล Automation ทำให้เกิด Ramping Automation (บางผู้ผลิตเรียก Vector Automation) หรือการที่เราเขียน Automation แบบลากเส้นจากจุดหนึ่งไปยังจุดหนึ่ง ซึ่งขั้นสเตประหว่างจุดนั้นจะเป็นไปตามนั้นจริง ๆ ละเอียดระดับแซมเปิ้ลต่อแซมเปิ้ล ไม่ใช่เกิดจากการปัดเศษอย่างเดิมครับ

ระบบ Automation ใหม่จะมีตัวเลือกที่เรียกว่า Virgin Territory เป็นการสนใจเฉพาะช่วงที่ถูกบันทึกเท่านั้น ช่วงอื่นจะมีค่าเท่ากับที่ตั้งไว้แต่แรก

Activating/Deactivating Busses

สิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ แต่บางทีก็ทำให้ตาลายเหมือนกัน เวลาผู้เขียนทำงานกับ Nuendo และเชื่อว่าหลายคนคงคิดอย่างเดียวกัน นั้นคือตอนที่โหลดอินสตรูเมนต์ที่มีเอาท์พุทเยอะ ๆ มากกว่า 6-8 ช่องขึ้นไป มันจะแสดงที่ Mixer ทั้งหมด ซึ่งบางทีเราใช้แค่ 2-4 ช่องเท่านั้น VST3 จะเปิดช่องให้เราเลือกปิดช่องสัญญาณที่เกินมาเมื่อไม่ต้องการ หรือเปิดใหม่เมื่อต้องการได้ด้วย ซึ่งไม่เพียงแต่จะช่วยลดความยุ่งยากบน Mixer แต่มันยังลด CPU Load ด้วยครับ

Resizable Edit Windows

แม้ว่าทุกวันนี้จอแสดงผลขนาดใหญ่จะราคาถูกลงมาก ๆ ก็ตาม แต่ความสามารถนี้จะช่วยให้เราสามารถเพิ่มหรือลดขนาดของหน้าต่างสำหรับอิดิตได้เอง ที่น่าสนใจคือความสามารถในการเปิดหน้าต่างหลาย ๆ ตัวในหน้าจอเดียวโดยไม่มีการเหลือมล้ำกัน

Logical Parameter Organization

บน Ableton Live การทำงานกับ VST ที่มีพารามิเตอร์เยอะมาก ๆ นั้น น่าปวดหัวมาก เวลาที่เราต้องการอิดิตพารามิเตอร์หลาย ๆ ตัวหรือเพื่อทำ Automation เพราะทุกอย่างจะแสดงโดยไม่มีหมวดหมู่ และแสดงในระดับเดียวกัน แต่ VST3 จะแบ่งและแสดงพารามิเตอร์เป็นแผนภาพต้นไม้ (Tree Structure) พารามิเตอร์ที่อยู่ในหมวดหมู่เดียวกัน จะถูกจับรวมกัน เราสามารถที่จะจัดเอง และเซฟเก็บไว้เพื่อเรียกใช้คราวหลังได้เช่นกันครับ นี่ก็เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่เราจะจัดการอะไรได้มากขึ้น แม้แต่การจัดหมู่ของพารามิเตอร์

VSTXML for Remote Controllers

XML หรือ EXtensible Markup Language นั้นแพร่หลายไปทุกวงการไม่เว้นแม้แต่ Music Production ครับ ตัวผู้เขียนเองก็ค่อนข้างโชคดีที่ได้ใช้มาตรฐานVSTXML กับเค้าด้วยเหมือนกัน เพราะ Novation ReMote SL สนับสนุนมาตรฐานนี้ก่อนใครเพื่อน โดย VSTXML จะช่วยให้ Remote Controller แสดงพารามิเตอร์ต่าง ๆ ของ VST3 ได้ที่ตัวมันเอง ซึ่งเราสามารถใช้ Remote Controller/Control Surface ของเราจัดเรียง-เปลี่ยนชื่อหรือจัดการพารามิเตอร์ต่าง ๆ ได้โดยตรง โดยไม่ต้องยุ่งกับตัวซอฟต์แวร์เลยครับ แม้แต่พาราเตอร์ที่เป็น Read-Only อย่าง Gain Reduction ของ Limiter เราก็สามารถนำขึ้นไปแสดงบน Control Surface ที่สนับสนุนได้ด้วย จุดนี้เองที่ผู้เขียนเห็นว่าบรรดาเครื่องดนตรีของ Yamaha ที่มีจอแสดงผลจะได้ประโยชน์จาก VSTXML ไปเต็ม ๆ

UTF16 for localized parameter naming

แม้ว่าจะไม่สำคัญมาก แต่การใช้ UTF-16 คือก้าวสำคัญที่เราสามารถแสดงพารามิเตอร์เป็นภาษาต่าง ๆ ทั่วโลก ไม่เว้นแม้แต่ภาษาไทยครับ

No MIDI restriction for parameter value transfers

อย่างที่รู้กันว่าค่า Control Change ของ MIDI นั้นมีจำกัดมากแค่ 128 แต่พัฒนาการของซอฟต์แวร์ไม่อาจหยุดแค่ตรงนั้นครับ อย่าง VST3 ก็สนับสนุนความละเอียดมากกว่ามาตรฐาน MIDI รองรับ และมากเท่าความต้องการของนักดนตรีและนักพัฒนาซอฟต์แวร์อยากให้เป็น ยกตัวอย่าง พารามิเตอร์ Frequency Cutoff ของ Filter ควรจะมีความละเอียดได้ถึงระดับ 1 Hz หมายความว่ามันจึงควรมีความละเอียดอยู่ที่ประมาณสองหมื่นค่า (คิดว่าจากย่านความถี่ที่มนุษยืได้ยิน 20-20 KHz) ไม่ใช่การนำค่าที่ MIDI รองรับคือ 128 มากำหนดสเตปของพารามิเตอร์ครับ

Audio Inputs for VST Instruments

VST Instrument หลายตัวสามารถใช้งานเป็นเอฟเฟกต์ได้ด้วย ยกตัวอย่าง FM8, Absynth ฯลฯ แต่เพื่อการนี้ นักพัฒนาต้องแยกปลั๊กอินออกเป็นสองเวอร์ชัน เช่น FM8 กับ FM8 Fx เวลาใช้งานต้องใช้แยกกันตามความต้องการ ซึ่งเพิ่มความยุ่งยากเล็กน้อยให้กับทั้งนักพัฒนาและผู้ใช้ครับ จึงถือเป็นสิ่งที่ดีมากที่ VST3 จะสนับสนุน Audio Inputs ให้กับทุกปลั๊กอิน ไม่จำกัดว่าจะเป็นเอฟเฟกต์หรืออินสตรูเมนต์อีกต่อไป

Multiple Audio and MIDI inputs/outputs

เราอาจคุ้นเคยกับ Multiple Audio Outputs อยู่แล้ว แต่มันจะดีมากจริง ๆ ครับ หาก VST3 จะมีทั้ง Multiple Audio Inputs และ Multiple MIDI I/O ด้วย และจะมีประโยชน์มากที่สุดในการนำไปใช้แสดงสดครับ

64 Bit processing

แม้ว่าก่อนหน้านี้จะมี VST Plugin ที่ประมวลผลที่ 64 Bit Floating Point อยู่แล้ว แต่นั้นเป็นการจัดการของนักพัฒนาเองครับ แต่มาตรฐาน VST3 จะบรรจุความสามารถนี้ลงไปด้วยเลย ช่วยให้การทำงานบน OS 64 Bit ทำได้อย่างเต็มประสิทธิภาพจริง ๆ

ความสามารถต่าง ๆ เหล่านี้น่าจะถูกใจคนดนตรีไม่น้อย แต่อย่างไรก็ตามครับ การเดินหมากของ Steinberg ที่กั๊ก VST3 ไว้ถึงปีกว่า ๆ เพียงเพราะต้องการออก VST3 โฮสต์ก่อนใครอย่าง Cubase 4 และ Nuendo 4 อาจทำให้ความแพร่หลายของ VST3 ช้าลงกว่าที่ควรจะเป็นมาก ๆ และกว่าที่เราจะได้ใช้ VST3 บนโฮสต์อื่น ๆ ก็น่าจะประมาณช่วงกลางปีหน้า เมื่อ Logic Studio ราคาถูกขนาดนี้ และ VST3 มาช้าแบบนี้ ปีหน้า…เรามาตัดสินกันอีกทีครับ ว่าทิศทางไหนที่นักดนตรีและนักพัฒนาส่วนใหญ่เลือกที่จะก้าวเดินไป…