หลายคนอาจคุ้นเคยกับ “หนังสั้น” มากกว่า แต่ในโลกนี้ยังมี “เพลงสั้น” ที่หลายคนไม่อาจจัดได้ว่ามันเป็นเพลงเลยด้วยซ้ำ เพราะเพลงสั้นที่ผู้เขียนพูดถึงนั้น อาจมีความยาวไม่ถึง 2 วินาทีเลยก็ได้ หลายคนเลยจัดว่ามันเป็นเพียงซาวน์เอฟเฟกต์มากกว่า อย่างไรก็ตาม…ในโลกนี้ยังมีเพลงสั้นอยู่หลายเพลงที่ถูกฟังกันบ่อยมาก ๆ หรือในโลกนี้มีคนฟังมันอยู่แทบทุกวินาทีเลยทีเดียวครับ (ยกตัวอย่างเพลงตอนเปิด Windows นั่นไง)

ผู้เขียนได้มีโอกาสอ่านสกู๊ปน่าสนใจจากเว็บ Music Thing (MusicThing.co.uk) เป็นเรื่องราวเบื้องหลังเพลงสั้นเหล่านั้น ซึ่งมีความสนุก ได้ความรู้+แรงบันดาลใจในการทำงานด้านนี้มาก จึงอยากมานำเสนอกันสู่ผู้อ่านขาประจำ ที่ชอบเรื่องราวเหล่านี้ สำหรับตอนนี้เริ่มต้นด้วยเสียงที่นักดูหนังคุ้นเคยกันมากว่า 20 อย่างเสียง “Deep Note” เสียงที่ถูกเล่นก่อนดูหนังในโรงภาพยนตร์ และเป็นเสียงที่เท่มาก ๆ ตั้งแต่ได้ยินครั้งแรกจนถึงบัดนี้ก็ยังรู้สึกสะใจเล็ก ๆ ทุกทีที่ได้ฟัง…

“ผมอยากบอกว่าเสียง THX นั้นเป็นเสียงสังเคราะห์จากคอมพิวเตอร์ที่มีคนรู้จักมากที่สุดในโลก และถึงแม้มันอาจจะไม่ใช่ก็ตาม เสียงมันก็ยังเจ๋งอยู่ดี”

แอนดี้ มัวเรอร์ (Andy Moorer: www.jamminpower.com/jam.jsp) ผู้แต่ง กล่าวไว้อย่างนั้นครับ หากท่านผู้อ่านอยากจะลองฟังอีกครั้ง ลองเข้าไปที่ http://www.thx.com/trailers/

แอนดี้ มัวเรอร์

Dr. James ‘Andy’ Moorer แต่ง Deep Note ในปี 1982 นอกจากผลงานระดับโลกแล้ว งานประจำที่เค้าทำก็ถือว่าเท่มาก ๆ อีกด้วยครับ ในชีวิตเค้าได้สิทธิบัตร 4 ใบ ออสการ์หนึ่งตัว ในยุค 60 ทำงานที่ศูนย์ทดลองวิจัยปัญญาประดิษฐ์ที่สแตนฟอร์ด ยุค 70 ทำงานที่ IRCAM (http://www.ircam.fr) ในปารีส วิจัยเรื่องเกี่ยวกับ Speech Synthesis และบัลเลย์ ยุค 80 ทำงานที่ LucasFilm DroidWorks ก่อนจะไปทำงานกับสตีฟ จ๊อบที่ NeXT ในวันนี้เค้าทำงานเป็นที่ปรึกษา, ซ่อมวิทยุหลอดและเล่นเบนโจ

มีเกร็ดน่ารู้เกี่ยวกับ Deep Note มาฝาก ดังนี้ครับ

· มีการเล่นเสียง Deep Note กว่า 4 พันครั้งในโรงภาพยนตร์ทั่วโลกต่อหนึ่งวัน นั้นเท่ากับว่ามีการเล่นทุก ๆ 20 วินาที

· ครอบครัว Simpsons ได้รับอนุญาตให้แสดงภาพยนตร์ล้อเลียน เนื่องจาก Deep Note มีความดังมากจนหัวซิมป์สันถึงกับระเบิด (ชมภาพยนตร์ได้ที่ http://www.pocketmovies.net/detail_36.html) แต่ศิลปินอย่าง Dr Dre โชคร้ายกว่าครับ เค้าขออนุญาติแซมเปิ้ลเสียง Deep Note แต่โดนปฏิเสธ แต่เค้ายังแอบใช้มันในงานเพลงจนได้ แล้วถูก Lucas Film ฟ้องในที่สุด

· นักศึกษาของสแตนฟอร์ด Jesse Fox พยายามสร้างเสียง Deep Note ขึ้นมาใหม่อีกครั้ง ซึ่งผลลัพธ์ก็ยังคงไกลห่างจากของจริงอยู่มาก (Music Thing แซวว่าเหมือนอุบัติเหตุในโรงงานทำออร์แกน อ่านเพิ่มเติมและลองฟังเสียงได้ที่ http://ccrma-www.stanford.edu/~jrobfox/220a/hw5.htm)

· มีทฤษฏีหลายอันบนอินเตอร์เนต ที่พยายามจะวิเคราะห์ว่าเสียง Deep Note สร้างมาได้ยังไง บ้างก็ว่ามาจาก Yamaha CS-80 บ้างก็ว่า Synclavier แต่แท้จริงแล้ว มันสร้างมาจากคอมพิวเตอร์เมนเฟรมขนาดยักษ์ที่ LucasFilm ครับ เป็นเรื่องที่น่าแปลกที่กว่า 20 ปี ไม่เคยมีใครถามแอนดี้เลย (ทอมแห่ง Music Thing เป็นคนแรกที่กล้าถาม) แล้วแอนดี้จึงเริ่มเล่าความเป็นมาทั้งหมดให้ฟังครับ…

Dr Dre แฟนเพลง Hip Hop คงรู้จักเค้าดี เป็นอีกคนหนึ่งซึ่งพยายามแซมเปิ้ล Deep Note มาใช้ในงานเพลง ก่อนจะถูก Lucas Film เล่นงาน

ความเป็นมาของ Deep Note (ถ่ายทอดจากประสบการณ์ตรงจากผู้สร้าง)

ตอนนั้นผมทำงานให้ LucasFilm ในแผนกคอมพิวเตอร์ ซึ่งเริ่มทำตั้งแต่ปี 1980 จน 1987 ที่นั่นสร้างบุคคลากร ออกดอกออกผลให้กับ Pixar และ Sonic Solutions ในภายหลังด้วย ตอนนั้นผมเป็นหัวหน้าของทีมเสียง ในช่วงปี 1982 พวกเราทำการสร้าง Audio Processor ขนาดใหญ่มหึมา เพราะตอนนั้นยังไม่มีชิพ DSP ให้ใช้กันเลย แล้วเราเรียกมันว่า ASP (Audio Signal Processor)

ตอนนั้นก็เป็นช่วงเวลาเดียวกับที่ Tom Holman ทำงานอยู่ที่นั่น เค้าได้พัฒนาระบบที่ปัจจุบันนี้เรียกว่า THX Sound System มันถูกใช้เป็นครั้งแรกให้กับหนัง “Return of the Jedi” ของทาง Lucas Film เอง ตัวโลโก้นั้นถูกสร้างมาก่อนตัวหนัง แล้วผมก็ถูกขอจากผู้สร้างโลโก้ให้ทำเสียงให้ เค้าบอกกับผมว่าเค้าต้องการ “เสียงที่ไม่สามารถจับแหล่งที่มาและทิศทางได้ แล้วเป็นเสียงที่ใหญ่…ใหญ่มหึมาเลย” ก็ในเมื่อเค้าขอมา ผมก็เลยจัดให้…

Deep Note ถูกใช้เป็นปฐมฤกษ์ให้กับสุดยอดหนัง Sci-Fi เรื่องนี้

ผมเริ่มสร้างโปรแกรมสังเคราะห์เสียงสำหรับใช้กับ ASP ที่เปรียบเสมือนดั่งเครื่องสังเคราะห์เสียงระบบดิจิตอลขนาดใหญ่ ผมใช้เวฟฟอร์มเสียงเชลโล่ที่บันทึกมาในระบบดิจิตอล เป็นเวฟฟอร์มพื้นฐานให้กับออสซิลเลเตอร์ ผมยังจำได้ว่ามันมี 12 ฮาร์โมนิกส์ เครื่องนั้นสามารถรันออสซิลเลเตอร์ได้ทีละ 30 ตัวแบบเรียลไทม์ ผมจึงเริ่มเขียน “สกอร์” ให้กับโลโก้..

ตัวสกอร์นั้นเป็นโค้ดโปรแกรมภาษา C ขนาด 20,000 กว่าบรรทัด ตัวเอาท์พุทของโปรแกรมนี้ ไม่ใช่เสียงครับ หากแต่เป็นลำดับของพารามิเตอร์ที่คอยขับออสซิลเลเตอร์บน ASP อีกทีหนึ่ง ซึ่งโค้ดสองหมื่นกว่าบรรทัดจะสร้างประโยคสำหรับ “ตั้งออสซิลเลเตอร์ตัวที่ X ให้มีความถี่ Y Hz” อีกกว่า 250,000 บรรทัด!!

ตัวออสซิลเลเตอร์ก็ไม่ได้เป็นแบบอย่างง่าย ๆ ครับ มันจะมี Smoothers แบบ 1 Pole คอยคุมให้แอมพริจูดและความถี่ไหลลื่น ไม่สะดุด ในตอนเริ่มเพลง ออสซิวเลเตอร์ทั้งชุดจะมีช่วงความถี่อยู่ที่ 200 ถึง 400 Hz โดยทั้งหมดจะเป็นการสุ่ม และมีการขยับความถี่ให้ขึ้นลงในย่านนั้นด้วยการสุ่มเช่นกัน และที่เวลาหนึ่ง (ที่โปรดิวเซอร์บอกผมว่าเป็นเวลาที่โลโก้ THX จะปรากฏขึ้นมา) ผมกวนความถี่ด้วยคอร์ดสุดท้ายลงไปใน Smoothers และตั้งค่า Smoothing Time ไว้ด้วย พอถึงเวลาที่โลโก้ขึ้นมาเต็มจอ ผมตั้งให้ค่า Smoothing Time ลดลงเป็นค่าที่ต่ำมาก ๆ เพื่อให้ความถี่แต่ละตัวมาบรรจบกันเป็นความถี่ของคอร์ด (ที่ผมพิมพ์ลงไปเองเลย ไม่ได้สุ่ม โดยใช้ความถี่รากที่ 150 Hz)

แต่การบรรจบกันนั้น ยังไม่แม่นยำพอที่จะสร้างเสียงบีทระหว่างออสซิลเลเตอร์ แล้วทั้งหมดจะเฟดออกไป ผมใช้เวลา 4 วันในการเขียนโปรแกรมและดีบักมัน แล้วเสียงจะสร้างขึ้นมาแบบเรียลไทม์บน ASP

และเมื่อถึงกระบวนการซิงค์เสียงเข้ากับวิดีโอ (ซึ่งตอนนั้นผมก็ยังไม่ได้ดู) เราพบว่ามีการเหลื่อมของเวลาทั้งหมด ผมจึงปรับเวลาใหม่ สร้างสกอร์ชุดใหม่ภายใน 10 นาที เราจึงได้เสียงที่ซิงค์กันกับภาพอย่างลงตัวที่สุด

สกอร์ที่ผมเขียนขึ้นนั้น มีการสุ่มจำนวนขึ้นมาในหลาย ๆ ขั้นตอนมาก ๆ ซึ่งทำให้ทุก ๆ ครั้ง ที่ผมรันโปรแกรมตัวนี้ ผลลัพธ์ที่ได้จึงไม่เหมือนกันเลยในแต่ละครั้ง อันที่ผมเลือกนั้นเป็นตัวที่เด่นที่สุด ซึ่งทุกคนชอบ แล้วก็นำมันมาทำมาสเตอริ่งให้ได้เสียงที่ดังจริง ๆ อย่างที่เราได้ยินในหนัง (ซึ่งความดังของมันเป็นที่กล่าวถึงว่าอยู่ในระดับที่สามารถทำลายระบบประสาทการได้ยิน)

แล้วอีกไม่กี่เดือนหลังจากนั้น (หลังจากการเปิดตัวของ “Return of the Jedi”) พวกเค้าก็ทำเพลงต้นฉบับหายไป เดือดร้อนผมที่ต้องสร้างมันขึ้นมาใหม่อีกครั้ง แต่พวกเค้าก็บอกว่ามันให้เสียงไม่เหมือนเดิม เพราะว่าระบบการสุ่มตัวเลขที่ผมใช้ มาจากเวลาและวันที่เป็นคีย์ ซึ่งคงไม่สามารถจะสร้างใหม่ได้เหมือนเดิมอีกครั้งแน่ ๆ แต่ท้ายสุด ผมก็เจอต้นฉบับและทุกคนก็ดีใจที่ได้เสียงที่พวกเค้าต้องการอีกครั้ง

แอบดู Spectrum ของ Deep Note ด้วยโปรแกรม Baudline บน Linux

ซูมที่ 5 kHz

ในวันนี้ผมยังเก็บ “สกอร์’ เอาไว้อยู่ รวมไปถึงโค้ดโปรแกรมภาษา C ที่ใช้สร้างพารามิเตอร์ด้วย ตัวสกอร์นั้น ผมสามารถส่งให้คุณได้ (ถ้า THX อนุญาต เพราะมันมีลิขสิทธิ์อยู่) แต่ตัวโปรแกรมนั้น ผมให้ไม่ได้จริง ๆ ครับ

เครื่อง ASP นั้นปลดประจำการในปี 1986 และขายต่อเป็นเศษเหล็กไป จะเห็นว่าคอมพิวเตอร์ ไม่ว่าจะแรงแค่ไหน ก็กลายเป็นขยะได้ในเวลาไม่กี่ปี ดังนั้นหากมีโอกาสได้ใช้ ก็จงใช้ให้คุ้มอย่างเต็มที่ครับ

สุดท้ายนี้ขอขอบคุณทอมแห่ง Music Thing ผู้กล้าหาญ และแอนดี้ สำหรับพวกเราแล้ว คุณคือลูกผู้ชายตัวจริง!! ในตอนหน้า จะมีเรื่องราวดี ๆ ของเพลงสั้น มาฝากกันอีกครับ โปรดคอยติดตามว่าจะเป็นเพลงอะไร และเป็นเพลงที่คุณผู้อ่าน คุ้นเคยแค่ไหน รับรองว่าสนุกไม่แพ้เรื่องนี้แน่นอนครับ

บทความนี้ได้รับการตีพิมพ์ในนิตยสาร The Absolute Sound & Stage