New Synth Concept (New Interface + New Sound) = Gaugear

 

Gaugear (jaopaod&d อ่าน “เก๋าเกี้ย”) เป็น Monophonic Synthesizer แนวทดลองครับ ออกแบบโดย Lazyfish ซึ่งใครเป็นแฟนพันธุ์แท้ของ Reaktor น่าจะเคยได้ยินชื่อนี้มาบ้างไม่มากก็น้อย เสียงของมันไม่ได้อิงกับระดับ Pitch ตามปกติ และการที่มันมี User Interface ที่ไม่เหมือนใคร จะช่วยลบภาพเดิม ๆ ของปุ่มกด ปุ่มหมุน ปุ่มเลื่อนที่เราเห็นตาม Synthesizer ทั่วไป ออกไปจากจิตใต้สำนึกของผู้ใช้เลยล่ะครับ

โครงสร้างพื้นฐานของมัน อธิบายได้ง่ายมากๆ เริ่มจาก Tone Generator ส่งสัญญาณเสียงไปเหลาแอมพริจูดด้วยเอนเวลลอป (Envelope) จากนั้นจึงส่งเข้าไปรีเวิร์บแล้วต่อด้วยอิควอไลเซอร์

ภาพซ้ายยังพอเดาได้ว่ามันคือ Amplitude Envelope ส่วนภาพขวา อ่านผ่าน ๆ อาจทำให้ตาลายได้ครับ แต่หากลองกลับตัวอักษรดู จะเข้าใจได้ทันทีว่ามันคือเอฟเฟกต์รีเวิร์บนั่นเอง

ส่วนของเอนเวลลอปจะอยู่ทางฝั่งซ้ายของพาเนลครับ มีตัวอักษร 4 ตัวบอกพารามิเตอร์ของมัน (เรื่อง ADSR Envelope มีการพูดถึงไปแล้วเยอะมาก หากยังไม่เข้าใจให้เมล์มาหาผู้เขียนครับ) ส่วนทางด้านขวาของพาเนล จะมีเอฟเฟกต์รีเวิร์บ ซึ่งมีพารามิเตอร์หลักๆที่รีเวิร์บควรจะมี แต่ดูเหมือนว่า ผู้ออกแบบ GUI ไม่ได้ตั้งใจให้เราใส่ใจกับส่วนนี้เท่าไร เพราะจุดที่เป็นไฮไลท์คือส่วนตรงกลางของหน้าพาเนลนั่นเองครับ…

…มันคือส่วนของ Tone Generator ให้เราทดลองเล่นเสียงใหม่ ๆ โดยตัวมันจะประกอบไปด้วย FM/AM Pulse Oscillator ต่อขนานกัน 8 ตัว สัญญาณจากออสซิลเลเตอร์แต่ละตัว จะถูกส่งต่อมาที่เอฟเฟกต์ Delays และ Lowpass Filters ครับ

ส่วนที่เราเห็นกลม ๆ นั่นคือส่วนที่ควบคุมพารามิเตอร์หลัก ๆ ของออสซิวเลเตอร์ ทั้ง 8 ตัวอย่าง Pitch, Delay, Filter Cutoff การควบคุมก็เท่มากๆครับ ใช้เมาส์คลิกค้าง (Drag) แล้วลากตามแนวตั้ง จะเป็นการควบคุมการหมุนของวงแหวน แต่หากเราเลื่อนไปตามแนวนอน จะเป็นการกำหนดความยาวของวงแหวน (ซึ่งจะมีผลต่อการกระจายของพารามิเตอร์) และขั้ว (ทิศทาง) ของมันครับ (ลองทำดูไปพร้อม ๆกันเลย)

ถัดไปทางขวามือ เราจะเห็นสี่เหลี่ยมหลายๆอันซ้อนกัน มีทั้งหมด 8 ชิ้น ซึ่งแต่ละชิ้นก็คือตัวแทนของกลุ่มของพารามิเตอร์ของออสซิลเลเตอร์ (Signal Path) ทั้ง 8 ตัว นั่นเองครับ เมื่อเราคลิกแล้วลากกล่องเหล่านี้ ตำแหน่งและสีของมันจะเปลี่ยนไป ซึ่งการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้จะไปเชื่อมโยงกับพารามิเตอร์วงกลมด้านซ้าย ซึ่งก็จะเชื่อมโยงไปยังเสียงเช่นกัน ฟังดูอาจจะงง ๆ นิดหน่อยนะครับ เพราะแนวคิดของมันต่างกับซินธ์ทั่วๆไป ที่จะเปิดโอกาสให้เราปรับออสซิวเลเตอร์แต่ละตัวได้อย่างอิสระต่อกันอย่างละเอียด แต่ Gaugear นั้น ผู้ออกแบบ ให้เราปรับออสซิลเลเตอร์ทั้งหมดไว้ในคราวเดียวอย่างหยาบๆ เพราะตั้งใจให้เราใช้ “หู” ฟัง มากกว่าใช้ “ตา” ปรับแต่งพารามิเตอร์ครับ

ก่อนที่ผู้เขียนจะแนะนำการปรับคร่าว ๆ ให้เรามาดูรายละเอียดต่างๆให้หมดก่อนนะครับ

จอแสดงภาพที่อยู่ระหว่างวงกลมกับสี่เหลี่ยม จะแสดงภาพของ Lissajous Figures (อ่านละเอียดได้ที่ wikipedia.org) ซึ่งมันก็คือการนำสัญญาณสเตอริโอซ้าย-ขวามาเป็นอินพุทในการแสดงออกจอภาพนั่นเองครับ ส่วนภาพล่างคือส่วนสำหรับปรับระดับความดัง ปรับได้ด้วยการลากเมาส์ขึ้นลง

ที่อยู่ข้างใต้ของ ADSR คือปุ่มเลื่อน Glide สำหรับเลื่อนซ้ายขวาเพื่อปรับ Portamento นั่นเองครับ

และที่อยู่ด้านข้างของเอนเวลลอป จะเป็นส่วนที่ให้เราเลือก Fundamental Pitch และ Scale สมมติว่าเราเลือก Fundamental Pitch เป็น ‘B’ แล้วเลือก Scale เป็น “Major Pentatonic” (เลื่อนปุ่มไปบนสุดทั้งคู่) ออสซิวเลเตอร์ทั้ง 8 ตัว จะใช้ระดับ Pitch อยู่ใน B Major Pentatonic Scale เท่านั้นครับ

อย่างที่ได้เรียนไปแล้วว่า Instrument ชิ้นนี้ จะมีการปรับแต่งไม่มาก ให้เราใช้หูเป็นหลัก ในการค้นหาเสียงที่ ‘ใช่’ ในการทดลองเล่น เพื่อทำความเข้าใจระบบต่าง ๆ ของมัน ผู้เขียนแนะนำว่าให้ลด Mix (ในโปรแกรมเขียนว่า XIM) ของรีเวิร์บลงจนเป็น 0 เพื่อที่จะได้ยินเสียงแท้ๆของมัน แล้วลดทุกพารามิเตอร์ของวงกลมให้อยู่ล่างสุด และหางสั้นที่สุด (เพื่อให้ Spread น้อยที่สุด) ถึงตอนนี้ เมื่อลองเล่นดู เราจะได้ยินเสียงพื้น ๆ ที่เป็นระดับเสียงในสเกลที่เราตั้งไว้เท่านั้นครับ ไม่หลากหลายและคาดเดาไม่ได้เหมือนในตอนแรกที่เราลองเล่น และเพราะว่าเราตั้งค่าพารามิเตอร์ไว้น้อยที่สุด เมื่อเราขยับสีเหลี่ยมทางขวามือ เราจะพบว่าเสียงมีการเปลี่ยนแปลงน้อยมาก ไม่เหมือนในตอนแรกเช่นกัน ลองวางเมาส์ไปตรงวงของ Pitch แล้วลากเมาส์ไปทางขวาดูนะครับ เราจะเห็นหางวงกลมยืดขึ้นไปทางซ้าย และมันจะมีผลทำให้ Pitch ของออสซิลเลเตอร์แต่ละตัวกระจายออกไป และถ้าหากเราหมุนหัวของวง Pitch ขึ้นไปด้านบน เราจะแตะถึงระดับ Pitch สูงสุด และหากขยับอีกเพียงนิดเดียว (ถัดไปตามเข็มนาฬิกา) มันก็จะไปชน Pitch ที่ต่ำที่สุด จากนั้นลองขยับสี่เหลี่ยมดูครับ เราจะได้ยินเสียงเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ จากการที่ระยะของ Pitch มันกว้างขึ้นนั่นเอง

จากนั้นลองเพิ่มวง Delay เพื่อให้ค่า Delay ยาวขึ้นครับ แล้วลองเพิ่มระดับ Mix ของรีเวิร์บ เราก็จะได้เสียงที่นำมาใช้เป็น Atmospheric Pad ได้แล้ว

การเรียนรู้เครื่องดนตริชิ้นนี้จาก Snapshot หรือพรีเซตนั้น จะช่วยให้เราได้ยินเสียงที่หลากหลายเท่าที่เครื่องดนตรีชิ้นนี้จะสร้างได้ ลองเปลี่ยนแล้วเล่นดูได้ครับ แล้วอย่าลืมเปลี่ยนตำแหน่งของสี่เหลี่ยมด้วยนะครับ เพราะมันจะทำให้เราได้เสียงใหม่จาก Patch เดิมได้อย่างง่าย ๆ โดยที่คาแรกเตอร์หลักของเสียงยังคงอยู่ หรือจะลองใช้ Random Function โดยการดับเบิ้ลคลิกที่ตรงกลางของวงกลมหรือสีเหลี่ยม มันจะเปลี่ยนตำแหน่งและสีไปโดยทันที (หากคลิกที่ตรงกลางของวงกลมแค่ครั้งเดียว จะเป็นการเปลี่ยนสีของวง แต่จะไม่มีผลใด ๆ ต่อเสียง)

นี่อาจเป็นเครื่องดนตรีอีกชิ้นนึง ที่นักดนตรีน่าจะชอบกันมาก นอกจากเสียงที่ไม่เหมือนใครแล้ว สิ่งสำคัญกว่านั้นคือความง่ายในการเข้าถึง โดยเฉพาะการใช้สัญชาตญาณของการได้ยินมากกว่านี่ล่ะครับ

“ก็เราเป็นนักดนตรีหนิ้ ใหม่ใจ้โปรแกรมเม้อ…”