แม้ The Computer Music Tutorial จะมีอายุครบรอบ 10 ปีไปตั้งแต่ปีที่แล้ว แต่ผู้เขียนเองก็เพิ่งได้ลิ้มรสชาติและกลิ่นน้ำหมึกของหนังสือเล่มนี้ได้ไม่ถึง 2 ปีนัก และอยากจะโทษตัวเองอย่างมากที่มองข้ามไปในคราแรก เพียงเพราะพิจารณาจากสารบัญที่ Amezon.com แล้ว เห็นว่าเป็นเรื่องราวพื้นฐานที่พอจะรู้เรื่องอยู่แล้ว ทำให้พลาดที่จะได้อ่านและเวลาก็ล่วงเลยไปเป็นปี กว่าที่อาจารย์ชาญ ชัยพงพันธุ์แห่งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จะเมตตาบริจาคมาให้ผู้เขียน ต้องขอบคุณอาจารย์มา ณ ที่นี่ด้วยครับ

หนังสือเล่มนี้เขียนโดย Curtis Roads และผองเพื่อน เขียนโดยใช้ประสบการณ์จากการทดลองและศึกษาด้านคอมพิวเตอร์ดนตรีมาเป็นเวลากว่า 30 ปีครับ ถ้าใครชอบอ่านบทความคอมพิวเตอร์ดนตรีในแนววิชาการคงจะพอรู้จักหรือคุ้นชื่อ เพราะศาสตราจารย์ Roads เป็นบรรณาธิการให้กับ the Computer Music Journal (MIT Press) ถึง 23 ปี และเป็นผู้ร่วมก่อตั้ง the International Computer Music Association ในปี 1980 ศาสตราจารย์ Roads เริ่มศึกษาการประพันธ์เพลงที่ California Institute of the Arts และ University of California, San Diego ในระดับปริญญาตรี และปริญญาเอกที่ University of Paris VIII ในช่วงปี 1980-1987 เป็นนักวิจัยที่ Massachusetts Institute of Technology และหลังจากนั้นก็ไล่สอนตามมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ตั้งแต่ University of Naples “Federico II,” Harvard University, Oberlin Conservatory, Les Ateliers UPIC (Paris) และ the University of Paris VIII รวมทั้งมีกิจกรรมต่าง ๆ มากมายเกี่ยวกับวงการคอมพิวเตอร์ดนตรี เรียกว่าอุทิศชีวิตให้วงการนี้จริง ๆ และที่โดดเด่นอีกอย่างนอกจากหนังสือเล่มนี้ ก็คือวิทยานิพนธ์ในระดับปริญญาเอกของเค้าเกี่ยวกับเรื่อง Granular Synthesis จนเป็นที่มาของหนังสืออีกเล่มที่ชื่อ “Microsound (2002)” ซึ่งผู้เขียนก็มีโอกาสได้อ่านแล้วเช่นกัน ถ้ามีโอกาสจะนำมารีวิวกันครับ

ปัจจุบันศาสตราจารย์ Roads สอนประจำอยู่ที่ CREATE, Department of Music, University of California, Santa Barbara ครับ เยี่ยมชมเว็บไซต์ของศาสตราจารย์ Roads ได้ที่ http://clang.mat.ucsb.edu

เรามาพูดถึงหนังสือเล่มนี้กันต่อครับ ด้วยระยะเวลาของหนังสือเล่มนี้ถึงปัจจุบันคือกว่า 10 ปี ในแง่มุมของเทคโนโลยีดนตรีก็เปรียบได้เหมือนกับ 100 ปีของโลกปกติเลยทีเดียวครับ เพราะอย่างที่รู้กันดีว่าเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์นั้นพัฒนาไปเร็วแค่ไหน หรือลองคิดง่าย ๆ ว่าในวันนั้น (ปี 1996) เครื่องคอมพิวเตอร์ Windows 95 ของเรา ทำอะไรกับงานดนตรีได้บ้าง…?

ดังนั้นถ้าใครจะบอกว่าหนังสือเล่มนี้ “โบราณ” ก็คงจะบอกได้เต็มปากโดยเฉพาะเมื่อนำไปเทียบกับหนังสือคอมพิวเตอร์ดนตรีทั่ว ๆ ไป เพราะหนังสือเหล่านั้นแค่ผ่านเวลาไป 2-3 ปี นำเนื้อหามาดูอีกทีก็กลายเป็นของเก่า ไปแล้วล่ะครับ (โดยเฉพาะบทความ Tutorial ที่สอนการใช้งานโปรแกรม) แต่ The Computer Music Tutorial มีความแข็งแรงทางด้านเนื้อหาจนผู้เขียนต้องนำมาแนะนำกัน เพราะเนื้อหาส่วนใหญ่ของหนังสือเล่มนี้พูดถึงพื้นฐานของหลาย ๆ เรื่องที่ปัจจุบันยังคงใช้และจำเป็นที่จะต้องรู้อยู่ ตั้งแต่เรื่องของดิจิตอลออดิโอไปจนถึงการสังเคราะห์เสียง ไปจนถึงการวิเคราะห์และประมวลผล ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนแต่ใช้หลักการพื้นฐานของความรู้ที่คิดค้นกันย้อนหลังไปถึง 50 ปีก่อนหรือในบางบทอย่าง “Fourier Analysis” นั้น ต้องบอกว่าเป็นความรู้ที่คิดค้นตั้งแต่เมื่อ 200 ปีก่อนด้วยซ้ำครับ

และแม้ชื่อของมันจะบอกความนัยว่า “Computer Music Tutorial” แต่มันก็ต่างจากบทความ Tutorial ที่เราได้อ่านนิตยสารมากครับ ใครที่เข้าใจว่าจะอ่านหนังสือเล่มนี้เพื่อที่จะเรียนรู้ขั้นตอนในการทำงานดนตรี ผู้เขียนแนะนำให้ซื้อ “Real World Digital Audio” ของ Peter Kirn ที่แนะนำไว้ในตอนที่แล้ว จะตรงความต้องการมากกว่า

The Computer Music Tutorial นั้นเหมาะกับผู้ที่สนใจแง่มุมของคอมพิวเตอร์ดนตรีในเชิงที่ลึกขึ้นไปอีกระดับ เช่นนักดนตรีมือคีย์บอร์ดต้องการทำความเข้าใจเรื่องซินธ์และเอฟเฟกต์ให้ลึกขึ้นกว่าเดิม หรือโปรแกรมเมอร์ต้องการความเข้าใจในระดับที่เกือบสามารถนำไปพัฒนาเครื่องมือด้านนี้ต่อได้เลย เพราะแม้เนื้อหาจะยังไม่พูดถึงการสร้างอะไรขึ้นมาโดยตรงนะครับ โดยเน้นไปที่แนวคิดพื้นฐานมากกว่า แต่แนวคิดเหล่านี้ หากเราศึกษาเพิ่มอีกหน่อยในเรื่องของเครื่องมือในการสร้าง เราก็สามารถเขียนซอฟต์แวร์หรือสร้างฮาร์ดแวร์ดนตรีได้เลยครับ

เรามาดูกันดีกว่าครับ ว่าภายใต้หน้ากระดาษ 1234 หน้านั้น มีอะไรบ้าง…

บท Forward

เริ่มต้นมาก็คลาสสิคเสียแล้วครับ เพราะให้ John Chowning บิดาแห่ง FM Synthesis มาเกริ่นนำ โดยพูดถึงทิศทางการใช้คอมพิวเตอร์มาช่วยงานดนตรี Sound Synthesis ไปจนถึง Programming และ Composition ครับ เป็นการเรียกน้ำย่อยก่อนเข้าสู่เนื้อหาอันอ้วนหนาของมัน

เนื้อหาหลักจะถูกแบ่งออกเป็น 7 ส่วนครับ รวมภาคผนวกเข้าไปด้วยก็เป็น 8 ส่วน ดังนี้

1 Fundamental Concept

เริ่มกันตั้งแต่แนวคิดของดิจิตอลออดิโอ โดยมี John Strawn อดีตบ.ก.ของ Computer Music Journal ร่วมแจมด้วย และแม้ว่าจะเป็นเรื่องของดิจิตอลออดิโอ แต่เนื้อหาก็ละเอียดพอที่จะพาผู้อ่านย้อนกลับไปยังประวัติศาสตร์การบันทึกเสียงกันเลยทีเดียว แล้วก็ต่อด้วยความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องสัญญาณเสียง Amplitude-Frequency-Phase อนาลอก-ดิจิตอล โดยในส่วนของดิจิตอลจะมีเนื้อหาที่ควรต้องรู้ครบถ้วนสมบูรณ์มาก จนหนังสือรุ่นหลัง ๆ หลายเล่ม ถึงกับต้องบอกว่าให้มาอ่านต่อในส่วนนี้ของหนังสือเล่มนี้กันเลยครับ

ภาค 2 ของส่วนนี้คือเรื่องของ Music Systems Programming เขียนร่วมกับ Curtis Abbott บอกเล่าแนวคิดพื้นฐานของการเขียนโปรแกรมบนคอมพิวเตอร์อย่างคร่าว ๆ แต่ง่ายต่อความเข้าใจ นักดนตรีที่มุ่งมั่นจะเป็นนักแสดงดนตรีจริง ๆ ก็ไม่จำเป็นต้องอ่านในส่วนนี้ โปรแกรมเมอร์ที่ผ่านการฝึกเขียนโปรแกรมในมหาวิทยาลัยก็ข้ามไปได้เลย แต่ถ้าเป็นนักดนตรีที่ต้องการจะเขียนโปรแกรมแล้วล่ะก็ ส่วนนี้จะพาเราเข้าสู่โลกของการเขียนโปรแกรมได้อย่างไม่มีติดขัดครับ

2 Sound Synthesis

ประกอบไปด้วยบทย่อย ๆ อีก 6 บทครับ ไล่ตั้งแต่ Introduction to Digital Sound Synthesis ซึ่งจะเล่าเรื่องราวของการสังเคราะห์เสียงในระบบดิจิตอลในยุคแรกคือ 50 ปีที่แล้ว ไปจนถึงแนวคิดของ Fixed-Waveform Table-lookup Synthesis ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของ Digital Synthesis มาช้านาน แนวคิดของ Envelope เปรียบเทียบการ Synthesis ระหว่างแบบ Real-time กับ Non-real-time บทต่อมาคือ Sampling and Additive Synthesis ซึ่งก็เช่นเคยครับ มีการเกริ่นไปถึงประวัติศาสตร์อย่างละเอียดตั้งแต่สมัยที่ Pierre Schaeffer ใช้เครื่องเล่นเทปในการสร้างงานเพลง ไล่มาจนถึง Mellotrons-Fairlight CMI และ E-MU Emulator ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นคีย์บอร์ดที่ใช้พื้นฐานจากการ Sampling ทั้งหมด และเนื้อหาก็ยังลงลึกพอที่จะเล่าถึงเทคนิคการ Looping, Pitch-Shifting เพื่อให้โปรแกรมเมอร์นำแนวคิดเหล่านี้ไปสร้างเครื่องมือได้จริง ๆ ไปจนถึงปัญหาและเทคนิคต่าง ๆ ในการลดและบีบอัดข้อมูลให้น้อยลง

ส่วน Additive Synthesis ก็ร่ายยาวตั้งแต่ประวัติศาสตร์เช่นเดียวกันครับ ตั้งแต่ยุคของ Telharmonium (เคยเขียนลงคอลัมน์นวัตกรรมฯ) ไปจนถึง Hammond Organ B3 และต่อด้วยเทคนิคพื้นฐานของมันรวมไปถึงเทคนิคต่อยอดต่าง ๆ ที่ใช้พื้นฐานเดียวกันอย่าง Spectral Modeling Synthesis

บทต่อมาเป็นเรื่องของ Multiple Wavetable, Wave Terrain, Granular, Subtractive Synthesis ครับ ส่วนใหญ่แล้วจะพูดถึงแนวคิดคร่าว ๆ ของมัน มากพอสำหรับทำความเข้าใจ แต่ที่ชอบมากที่สุดในบทนี้คือเรื่อง Linear Predictive Coding ครับ ช่วยให้ผู้เขียนเข้าใจหลักการในการลดข้อมูลเสียงได้ดีขึ้นมาก

บทต่อมาคือ Modulation Synthesis ครับ เริ่มจาก Bipolar-Unipolar Signal ไป Ring Modulation ไป Amplitude Modulation ไป Frequency Modualtion ไป Phase Distortion และสิ้นสุดลงที่ Waveshaping ถ้าหลงรักการสังเคราะห์เสียงอย่างโงหัวไม่ขึ้นก็น่าอ่านครับ แม้ในบางบทอย่าง FM Synth จะอุดมเป็นด้วยคณิตศาสตร์ก็ตาม

สองบทสุดท้ายคือ Physical Modeling และ Formant Synthesis กับ Waveform Segment, Graphic, Stochastic Synthesis ผู้เขียนขอยกย่องสองบทหลังอย่างมาก เพราะมีเนื้อหาที่จำเป็นต่อความเข้าใจในการจะสร้างเครื่องมือที่ใช้แนวคิดเหล่านี้ และหาอ่านได้ยากมากครับ

3 Mixing and Signal Processing

ส่วนนี้น่าจะถูกใจผู้อ่านส่วนใหญ่ เพราะนำมาใช้ประโยชน์ได้แทบทุกคน บทแรกคือ Sound Mixing อธิบายตั้งแต่การผสมกันของเสียงไปจนถึงไดนามิกเรนจ์ในระบบดิจิตอล ไปจนถึงรายละเอียดของ Mixing Console รวมไปถึงข้อดีของ Digital Mixing Console ระบบมัลติแทรค ระบบมอนิเตอริ่ง การทำออโตเมชั่น การซิงค์ระหว่างภาพและเสียง ฯลฯ คงต้องบอกว่าสิ่งเหล่านี้หาอ่านได้จากหนังสือเล่มอื่น ๆ ได้เช่นกัน แต่ต้องชมว่า CMT อธิบายเรื่องราวเหล่านี้ไว้ดีมากจริง ๆ เข้าใจง่ายมาก ๆ ตรงประเดนและไม่พูดโม้มากจนเสียอารมณ์ในการอ่านครับ

บทต่อมาคือ Basic Concepts of Signal Processing บทนี้คือที่สุด… (อนุญาตให้เติมได้เอง ถ้าได้อ่านแล้ว) เช่นกันครับ เหมาะเป็นอย่างยิ่งที่ซาวน์เอนจิเนียร์มือใหม่จะศึกษาจากจุดนี้ เรื่องราวอย่าง Dynamic Range Processing-Digital Filters-Convolution, Delay Effect, Time/Pitch Changing ถูกนำมาเรียงร้อยถ้อยคำอธิบายได้ครบทุกรายละเอียด ในบางตอนอาจลึกและไม่จำเป็นที่นักดนตรีจะเข้าใจ แต่ซาวน์เอนจิเนียร์ที่ต้องการรู้มากกว่าวิธีการใช้เครื่องมืออ่านแล้วจะอิ่มอร่อยไปกับมันเลยทีเดียวครับ

บทสุดท้ายของพาร์ทนี้คือ Sound Spatialization and Reverberation ครับ ประวัติศาสตร์และเรื่องราวเทคนิคต่าง ๆ ของการทำเอฟเฟกต์เสียงก้อง ถูกยกมานำเสนอในบทนี้ ไม่เว้นแม้แต่เทคนิค Impulse Response ที่ใช้กันดาษดื่นในปัจจุบัน (แต่หนังสือเล่มนี้เขียนเมื่อ 10 ปีที่แล้ว) ละเอียดและอ่านสนุกมากกว่าบทความรีเวิร์บทั่ว ๆ ไป ใครอยากทำเอฟเฟกต์รีเวิร์บก็สมควรที่จะปรึกษาเนื้อหาในบทนี้ก่อนครับ เพื่อที่จะดูว่าคนก่อนหน้าเราทำอะไรไว้บ้างแล้ว

4 Sound Analysis

ส่วนนี้แบ่งเป็นบทย่อยสองบทครับ บทแรกคือ Pitch and Rhythm Recognition ค่อนข้างเหมาะกับนักพัฒนามากกว่า นักดนตรีอาจไม่ได้ประโยชน์จากส่วนนี้เท่าไรครับ ผู้ที่อ่านสนุกคือผู้ที่เข้าใจพื้นฐานของดนตรีเท่า ๆ กับคณิตศาสตร์ครับ บทหลังคือ Spectrum Analysis นั้นน่าจะมีประโยชน์ต่อผู้อ่านในวงกว้าง เพราะแม้เนื้อหาจะค่อนข้างลึก แต่เราก็สามารถเก็บเกี่ยวความรู้เล็ก ๆ น้อย ๆ เพื่อความเข้าใจมากขึ้นในการใช้เครื่องมือเหล่านี้ระหว่างขั้นตอนการสร้างงานเสียงได้ด้วยครับ

5 The Musician’s Interface

เป็นเซกชั่นใหญ่ที่ประกอบไปด้วยบทย่อยถึง 6 บทครับ เนื้อหาหลักน่าจะเหมาะกับนักพัฒนา แต่เนื้อหาในหลาย ๆ ส่วนก็อ่านสนุกได้ทุกคน บทแรกอย่าง Musical Input Device เริ่มตั้งแต่โมเดลของระบบไปจนถึงประวัติศาสตร์ไล่มาตั้งแต่ Theremin, Voltage Control, Digital Control จนมาถึงรูปแบบที่เคยพัฒนาจนแตะถึงช่วง 10 ปีที่แล้วอีกเกือบร้อยรูปแบบ ซึ่งต้องยอมรับว่ารูปแบบที่เคยพัฒนาเมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว ในวันนี้ก็ยังคงใช้อยู่เกือบทั้งหมดอยู่แล้วครับ ไม่ต้องกลัวว่าเนื้อหาจะล้าสมัยแต่อย่างใด

บทต่อมาเป็นเรื่องของ Performance Software เริ่มจากประวัติศาสตร์ของ Sequencer ตั้งแต่แบบเทปกระดาษไปจนถึงอนาลอกและดิจิตอล ไปจนถึงการการเซตอัพซีเควนเซอร์เพื่อการแสดงสด ซึ่งเป็นแนวคิดที่ทันสมัยมากในวันนั้น (10 ปีที่แล้ว) แม้แต่ในวันนี้ก็ยังมีการทดลองเรื่องนี้อยู่เสมอ และมีการเกริ่นนำโปรแกรม Max ด้วยนิดหน่อยครับ

อีก 2 บทต่อมาเป็นเรื่องของ Music Editor และ Music Languages ยอมรับว่าสองบทนี้ล้าสมัยไปเต็ม ๆ เราไม่สามารถนำเนื้อหาไปใช้ประโยชน์ในการทำงานปัจจุบันได้มากเท่าไร แต่ในแง่ของการศึกษาประวัติศาสตร์ เราจะได้อะไรไปมาก ยิ่งนำไปเปรียบเทียบกับปัจจุบัน เราจะเข้าใจพัฒนาการต่าง ๆ จากยุคเริ่มต้นได้อย่างดีครับ

สองบทสุดท้ายอุทิศให้กับ Algorithmic Composition เต็ม ๆ ครับ เหมาะสำหรับผู้ที่สนใจจริง ๆ โดยตัวเนื้อหานั้นยังเกริ่นนำแนวคิดเริ่มต้นให้เราเข้าใจได้โดยไม่จำเป็นต้องมีพื้นมาก่อน ในบทสุดท้ายก็ค่อนข้างเข้มขึ้นขึ้นมาหน่อยครับ มีการยกตัวอย่างระบบต่าง ๆ ที่นำมาเล่นกับ Algorithmic Compositon อย่าง Linked Automata, Cellular Automata, Stochastic Processes, Fractals, Chaos Generators ฯลฯ เหมาะอย่างยิ่งที่เราจะใช้เป็นแหล่งความรู้เบื้องต้น หากคิดจะค้นคว้าทดลองศาสตร์ด้านนี้ต่อไปครับ

6 Internal and Interconnections

ส่วนนี้น่าจะโดนใจเหล่าวิศวกรนักพัฒนากันถ้วนหน้าครับ เพราะมีคำตอบของหลาย ๆ สิ่งที่อยากรู้ แบ่งออกเป็น 3 บทย่อยโดยในบทแรก Internal of Digital Signal Processors นั้น เริ่มเนื้อหากันด้วย Musical Synthesis Hardware อธิบายถึงโครงสร้างภายในของซินธ์ไปจนถึงแง่มุมของคุณภาพเสียง ไปจนถึงความต้องการความแรงของการประมวลผล สถาปัตยกรรมของโปรเซสเซอร์ ฯลฯ

บทต่อมาเป็นเรื่องของ MIDI เล่าย้อนกลับไปตั้งแต่ MIDI 1.0 Specification ไปจนถึง MIDI Hardware แง่มุมทั้งหมดของ MIDI ถูกนำมาตีแผ่ไม่เว้นแม้แต่ข้อจำกัดทั้งหลายของมัน บทสุดท้ายคือ System Interconnections ครับ ใช้ประโยชน์ได้มาก เพราะเล่าเรื่องพื้นฐานอย่าง AC Power Lines, Audio Cables, Patch Bays ฯลฯ แนวคิดทันสมัยอย่างการส่งเสียงผ่านเนตเวิร์กหรือส่งผ่านดาวเทียมก็มีอยู่ในนี้ด้วยครับ

7 Psychoacoustics

หนังสือส่วนใหญ่มักจะวาง Psychoacoustics ให้เป็นเนื้อหาแรก ๆ ที่ควรอ่าน แต่เล่มนี้จัดไว้ท้ายสุดครับ เรื่องราวส่วนใหญ่เราจะหาอ่านได้ง่าย เพราะเป็นเรื่องพื้น ๆ ที่ครอบคลุมไปยังศาสตร์อื่น ๆ ด้วย แต่อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้ที่เพิ่งเข้ามาเรียนรู้เรื่องราวของเสียงจะได้ประโยชน์ไปเต็ม ๆ เนื้อหาก็เล่าตั้งแต่ การรับรู้ความดัง โครงสร้างหูของมนุษย์ การรับรู้ความถี่-Timbre, Masking Effect ฯลฯ

ภาคผนวก: Fourier Analysis

Fourier Analysis เป็นศาสตร์สำคัญที่ใช้ในการวิเคราะห์สเปคตรัมของเสียงไปจนถึงการทำ Spectral Domain Processing ครับ และแม้ว่าเราจะสามารถอ่านเรื่องนี้ได้จากหนังสือทั่วไป โดยเฉพาะหนังสือคณิตศาสตร์ระดับอุดมศึกษา แต่ภาคผนวกที่ให้มานี้ ก็อธิบายโดยเน้นไปที่สัญญาณเสียงจริง ๆ และอธิบายไว้ละเอียดดีมาก กล่าวถึงที่มาที่ไปชัดเจนซึ่งก็เหมือนกับส่วนอื่น ๆ ในเล่ม แนะนำให้อ่านแนวคิดจากหนังสือเล่มนี้ก่อน ถ้าไม่เข้าใจในตัวคณิตศาสตร์ก็สามารถหาอ่านเพิ่มเติมจากแหล่งอื่น ๆ ที่อธิบายในเชิงคณิตศาสตร์ได้ละเอียดกว่าได้ ก่อนที่จะเก็บรายละเอียดในเรื่องนี้กับ CMT อีกครั้ง จะทำให้เราเข้าใจแล้วสามารถนำแนวคิดต่าง ๆ มาพัฒนาเครื่องมือเพื่อใช้ในงานเสียงได้จริง ๆ ครับ

บทสรุป

The Computer Music Tutorial เหมาะกับนักดนตรีที่มีประสบการณ์และเข้าใจเรื่องราวของเทคโนโลยีประมาณหนึ่ง และต้องการขุดลึกความเข้าใจในบางเรื่องให้เข้าถึงแก่น หรืออ่านเพื่อความบันเทิงในเวลาว่าง แต่นักดนตรีที่มาทางสาย Performance ไม่อยากแนะนำครับ เพราะการศึกษาเรื่องเหล่านี้แต่ไม่ได้ใช้นั้น เป็นการเสียเวลาซ้อม เพราะเนื้อหาระดับนี้ ต้องใช้เวลาในการทำความเข้าใจนานนับปี ส่วนนักพัฒนาที่ต้องการจะสร้างเครื่องมือด้านเสียง สามารถเรียนรู้จากหนังสือเล่มนี้เป็นก้าวแรก เพื่อซึมซับแนวคิดก่อนที่จะต่อยอดกับหนังสือเฉพาะทางเกี่ยวกับเครื่องมือที่ใช้พัฒนาครับ

ส่วนนักดนตรีที่เพิ่งก้าวสู่โลกของเทคโนโลยีดนตรี สามารถหาหนังสือในปัจจุบันหลาย ๆ เล่มที่ทันสมัยกว่า และแนะนำพื้นฐานที่ง่ายกว่า เพื่อการใช้งานได้อย่างรวดเร็วและทันที ยกตัวอย่าง Real World Digital Audio ที่ผู้เขียนแนะนำไปในตอนที่แล้วครับ

สำหรับ CMT ยังคงมีขายอยู่ที่ Amazon.com นะครับ ราคาประมาณ $50 ด้วยเนื้อหาที่เข้มข้นอุ่นหนาถึง 1,234 หน้า CMT จะเป็นคัมภีร์ที่เราสามารถนำมาเป็นแหล่งอ้างอิงในการทำงานได้อีกหลายสิบปีครับ

ตีพิมพ์ใน The Absolute Sound & Stage May 2007