ค้นหาความหมายของคำว่า “THE SUPER INSTRUMENT”

ตีพิมพ์ครั้งแรกในวารสาร The Absolute Sound & Stage

clip_image002Native Instruments (NI) จากมุมมองของผู้เขียน เป็นบริษัทที่มีคุณูปการอย่างยิ่งยวดในวงการ Computer Music ตั้งแต่เรื่องของแนวคิดที่ชัดเจนในการก่อตั้ง เป็นที่มาของชื่อ Native Instruments ซึ่งแปลว่า “การนำคอมพิวเตอร์มาใช้งานเป็นเครื่องดนตรี โดยไม่ต้องพึ่งพาแรงประมวลผลจากอุปกรณ์อื่น ๆ” ท่านผู้อ่านลองมองย้อนกลับไปสิบกว่าปีก่อนตอนที่ NI เริ่มก่อตั้งนะครับ ว่าคอมพิวเตอร์ตามบ้านทั่วไปนั้น มี CPU แรงระดับไหน และมันทำอะไรได้บ้าง เพราะก่อนหน้านั้นการนำแนวคิดของเครื่องดนตรี มาใส่ไว้ในคอมพิวเตอร์เพื่อทำการสร้างเสียงในแบบเรียลไทม์นั้น จำเป็นต้องใช้ Audio Processor ที่ออกแบบมาเพื่อเรนเดอร์เสียงโดยเฉพาะ ซึ่งผู้ที่จะมีสิ่งเหล่านี้ใช้ต้องเป็น Facility ขนาดใหญ่ระดับเดียวกับ Skywalker Sound System หรือสถาบันวิจัย สถาบันการศึกษาชั้นนำเท่านั้นที่ได้มีโอกาสใช้กัน

และการที่ตลอดสิบกว่าปีที่ผ่านมาของ NI ออกซอฟต์แวร์ดนตรีอย่างต่อเนื่อง โดยมีการออกแบบมาอย่างดีตั้งแต่ Function ที่ใช้งานได้ตรงประเดน มีมุมมองที่มาจากนักดนตรีและเอนจิเนียร์ได้อย่างลงตัว ไปจนถึงหน้าตาที่ออกแบบได้อย่างมีรสนิยม ทำให้เครื่องดนตรีที่เป็นเพียงซอฟต์แวร์นั้น มีชีวิตขึ้นมาให้เหมือนกับจับต้องได้ ผ่านเวลามาจนปัจจุบัน NI มีสายผลิตภัณฑ์ที่กว้างและมากพอ ก็เป็นเรื่องธรรมดาของอุตสาหกรรมเครื่องดนตรีที่จะนำผลิตภัณฑ์ของตัวเองมายำเข้าด้วยกันเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ ขณะที่การบรรจบระหว่างฮาร์ดแวร์กับซอฟต์แวร์เป็นเทรนด์หลักของเครื่องดนตรีสมัยใหม่ กลยุทธ 2 อย่างนี้ NI ได้หาวิธีที่เหมาะสมที่สุด ที่นำมาประยุกต์ใช้ด้วยกัน จนเป็นที่มาของ “KORE”

clip_image004

แนวคิดของ KORE คือการนำซอฟต์แวร์อินสตรูเมนต์มาใช้ในการแสดงสด โดยมีระบบการจัดการที่เอื้ออำนวยสารพัดอย่าง โดยมีฮาร์ดแวร์ทำหน้าที่เป็น Controller สำหรับควบคุมการทำงานโดยไม่ต้องไปสัมผัสอุปกรณ์คอมพิวเตอร์อย่าง เมาส์ คีย์บอร์ด หากแต่หน้าตาของ KORE Controller จะมีลักษณะเหมือนปุ่มที่อยู่บนคีย์บอร์ดเวิร์กสเตชั่น ซึ่งนักดนตรีคุ้นเคยกันอยู่แล้ว

KORE เวอร์ชันแรก ผู้เขียนไม่ได้สัมผัสตรง ๆ เพียงแต่ได้อ่านความคิดเห็นจากหลาย ๆ ที่มา พบว่ามันมีปัญหาเรื่องเสถียรภาพ ซด CPU สูง และหากเราติดตั้งบนเครื่องใหม่ เราจำเป็นต้องติดตั้งซอฟต์แวร์อินสตรูเมนต์ตัวอื่น ๆ ด้วย เพราะ KORE เวอร์ชันแรกจะทำหน้าที่เป็นเพียงโฮสต์ให้กับ VST/AU Plugin เท่านั้น

ไม่เกินอึดใจ NI ได้ปล่อย KORE 2 ออกมา ด้วยคำจำกัดอย่างโอหังว่า “THE SUPER INSTRUMENT” ด้วยความพยายามในการแก้ปัญหาของเวอร์ชันแรกด้วยการตัดส่วนที่เป็น Audio Interface ออกจาก KORE Controller เพราะการที่มันทำอะไรได้ทุกอย่างให้ดีและมีเสถียรภาพนั้น เป็นเรื่องยาก KORE 1 นอกจากจะส่งสัญญาณเสียงได้แล้ว ยังส่ง Control Signal ที่มีความละเอียดสูงด้วย ซึ่งนั้นคือสาเหตุว่าทำไม KORE 1 จึงไม่มีเสถียรภาพ

และหากว่าเราติดตั้ง KORE 2 เป็นครั้งแรก ก็สามารถเล่นสนุกได้ทันที เพราะมี Instruments ในตัวเอง แม้ว่าเราไม่เคยติดตั้ง Softsynth อื่นใดเลย เพราะ KORE 2 จะใช้ Sound Engine จาก REAKTOR, MASSIVE, ABSYNTH, FM8, KONTAKT, GUITAR RIG ฯลฯ ด้วย ซึ่งจะมีพรีเซตเสียงให้เราเลือกใช้กว่า 500 เสียง (ตรงนี้ไม่ได้หมายความว่าเราจะได้ซอฟต์แวร์ของ NI อย่าง REAKTOR หรือ ABSYNTH ตัวเต็มมาใช้นะครับ มันเป็นเพียง Sound Engine ที่เราปรับแต่งได้นิดหน่อยและไม่มี GUI จากเวอร์ชันเต็มมาให้ใช้) หรือจะพูดให้เข้าใจง่ายกว่าคือ เราติดตั้ง KORE 2 เพียงครั้งแรก ก็สามารถเล่นเสียงเจ๋ง ๆ ได้เลย โดยไม่ต้องมีชุด NI KOMPLETE หรือซอฟต์แวร์อินสตรูเมนต์จากค่ายอื่นอยู่ก่อน

และในวันนี้ ผู้เขียนเองก็ได้มีโอกาสสัมผัสกับ KORE 2 ตัวจริง เสียงจริง เพราะตอนนี้บ้านเรามีตัวแทนจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของ Native Instruments อย่างเป็นทางการอย่าง “Pro Plugin” ต้องขอขอบคุณพี่โจมา ณ ที่นี้ด้วยครับ

แกะกล่อง

KORE 2 ถูกแพ็คมาอย่างดี แกะง่าย อุปกรณ์มีไม่เยอะมากครับ มีแค่ตัว KORE Controller สาย USB แผ่น DVD และคู่มือความหนาเท่าพ๊อคเก็ตบุคความหนากำลังดีเท่านั้นเอง

KORE Controller ในเวอร์ชันใหม่นี้ มีหน้าตาคล้ายของเดิมและใช้งานแทนกันได้ครับ ใครมีของเก่าอยู่ก็เอามาใช้แทนกันได้ แต่ของใหม่จะดีกว่าหน่อยในแง่ที่เราสามารถเสียบใช้งานมันเมื่อไรก็ได้ ขณะที่รุ่นเก่า เราต้องเสียบใช้งานก่อนแล้วค่อยเปิดซอฟต์แวร์ ไม่สามารถเปิดซอฟต์แวร์ก่อนและค่อยเสียบใช้งานได้ ที่ว่าเสียบใช้งานก็เพราะว่ามันไม่มีสวิตซ์เปิดปิดครับ มันถูกออกแบบมาเพื่อให้เสียบไว้ตลอด เมื่อเปิดซอฟต์แวร์ตัว KORE Controller ก็จะสาดแสงสีแดงสวยพร้อมใช้งานได้ทันที

จุดแตกต่างอีกจุดคือส่วนที่เป็น Audio Interface ที่ถูกแทนที่ด้วยช่องเสียบ Pedal ถึง 4 ช่องด้วยกัน มี MIDI I/O หนึ่งคู่ มี Kensinton Lock และตะขอให้ติดตั้งกับผนัง สำหรับร้านค้าที่ต้องการแขวนโชว์สวย ๆ โครงสร้างผสมผสานระหว่างส่วนที่เป็นอลูมิเนียมและพลาสติก หนักและแข็งแรงมาก ๆ ปุ่มทุกปุ่มกระชับและให้สัมผัสในการกดที่ดี โดยเฉพาะปุ่มหมุนนั้นโดดเด่นเป็นพิเศษ ยิ่งได้สัมผัสตอนใช้งานจริง ๆ ที่ให้ความละเอียดสูงกว่า MIDI ถึง 10 เท่า จะยิ่งรู้สึกถึงการเชื่อมโยงระหว่างตัวเลขที่เปลี่ยนไปกับเสียง ก็ได้แต่รอคอยว่าเมื่อไรที่มาตรฐาน MIDI มีการอัพเกรดขึ้น พวกเราจะได้ใช้ปุ่มควบคุมเนียน ๆ นี้เป็นมาตรฐานกันจนเป็นเรื่องธรรมดา

clip_image006จอ LCD เป็นแบบ Monochrome สีแดงดำสวยงามเมื่อวางอยู่บน KORE Controller การแสดงตัวอักษรอยู่ที่ประมาณ 3-4 บรรทัดอ่านง่าย ผู้ที่ชอบเล่นอุปกรณ์ไฮเทคอาจนำไปเทียบกับมาตรฐานปัจจุบันว่า อุปกรณ์ Consumer Electronics ทั่ว ๆ ไป ที่งบประมาณ 2 หมื่น (ซึ่งเป็นค่าตัวของ KORE 2) เราน่าจะได้จอสีขนาด 3 นิ้ว ซึ่งใหญ่พอให้เราทำทุกอย่างผ่าน KORE Controller ได้โดยไม่ต้องพึ่งจอคอมพิวเตอร์เลย แต่นั้นอาจไม่ยุติธรรมเท่าไรครับ เพราะแท้จริงแล้วขนาดของตลาดห่างกันเยอะมาก ทั้ง KORE 2 เป็นระบบที่มีเรื่องของซอฟต์แวร์ชั้นดีแถมมาด้วย ก็เป็นเรื่องที่ยอมรับได้

หลังจากต่อเข้ากับคอมพิวเตอร์ KORE จะแสดงสีสันสีแดงผ่านปุ่มต่าง ๆ ที่อยู่ตามปุ่มหมุน ปุ่มกดอย่างสวยงามโดยที่ยังไม่ต้องติดตั้ง Driver แผ่น DVD ที่ให้มาเป็นแผ่นที่รันได้ทั้งบน Mac และ Windows ซึ่งผู้เขียนก็ทดสอบบนทั้งสอง Platform เช่นกันครับ พบว่าการติดตั้งนั้นค่อนข้างเรียบง่าย แบ่งออกเป็นขั้นตอนย่อยประมาณ 3 ขั้นตอนคือติดตั้ง Driver, ติดตั้ง KORE Software และ Sound Library ซึ่งขั้นตอนนี้กินระยะเวลานานมาก ๆ ครับ อันเนื่องมาจากข้อมูลกว่า 5 GB (Dual Layer) แบ่งออกเป็นไฟล์เสียงย่อย ๆ นับพัน ๆ ไฟล์ค่อยจัดเก็บลงฮาร์ดไดร์ว และสุดท้ายเป็นซอฟต์แวร์สำหรับทำการ Activate ชื่อ Service Center ซึ่งเป็นระบบใหม่แบบรวมศูนย์ หากเครื่องเรามีซอฟต์แวร์จาก NI หลายชนิด ต้องทำการ Activate ผ่านระบบใหม่ ซึ่งต่างจากระบบเก่าที่ซอฟต์แวร์แต่ละตัวจะมีระบบ Activate แยกเป็นเอกเทศ ในแง่ของการจัดการจะทำได้ง่ายกว่า (ในกรณีที่เราซื้อซอฟต์แวร์จาก NI ทั้งหมดอย่างถูกต้อง) ขณะที่ในแง่ของการ Pirate นั้น จะลำบากมากขึ้น เพราะระบบนี้มีการตรวจสอบและส่งผลกลับไปที่เครื่อง Server ของ NI ด้วย ดังนั้นหากใครใช้ KORE ทั้งแบบถูกต้องหรือไม่ถูกต้อง ร่วมกับซอฟต์แวร์ NI อื่น ๆ ระวังเรื่องนี้ด้วยนะครับ

ถึงขั้นตอนนี้หากท่านผู้อ่านลองเล่นบ้าง ทางเว็บ native-instrments.com ก็มีตัว Demo ให้ลองเล่นด้วยนะครับ เข้าไปดาวน์โหลดกันมาได้ หรือทาง NI ยังมีซอฟต์แวร์ลูกที่ชื่อ KORE Player ที่เพิ่งเปิดตัวใน Winter NAMM 2008 นี่เอง KORE Player เปรียบเสมือน Sound Module ให้เราโหลดเสียงในฟอร์แมท KORE SOUND เข้าไปเล่น ซึ่งทาง NI ให้ใช้กันฟรี เพราะต้องการจะขาย KORE Soundpacks เป็น Soundware ราคาไม่แพง (ชุดละ $60) ใช้กับ KORE เท่านั้น เป็นกลยุทธทางการตลาดที่ดีครับ เพราะ Soundware ลักษณะนี้ มีข้อดีกว่า Sample Library มาก ๆ ในแง่ที่เราปรับเปลี่ยนอะไรได้หลากหลายกว่า และมีราคาถูกมาก ๆ เมื่อเทียบกับการที่เราซื้อ Expansion Module บน Keyboard Workstation ทั่วไป

THE SUPER INSTRUMENT

หลังจากติดตั้งทุกอย่างเรียบร้อย ไม่กี่อึดใจก็สามารถเปิดซอฟต์แวร์ KORE 2 ขึ้นมาเล่นได้ทันที ซึ่งจากคู่มือก็แนะนำให้เราเปิด KORE 2 ในโหมด Standalone ขึ้นมาเล่นก่อนที่จะเล่นในโหมด Plugin มิฉะนั้นการทำงานอาจไม่สมบูรณ์ เรื่องนี้ผู้เขียนเข้าใจว่าน่าจะเป็นเรื่องของการ Scan ปลั๊กอินตัวอื่น ๆ ในระบบเพื่อนำมาใช้กับ KORE 2 ได้ เพราะหากเราเปิดในโหมด Plugin KORE 2 จะไม่มีข้อมูลปลั๊กอินตัวอื่นอยู่ในระบบของ KORE 2 เลย ซึ่งในเรื่องของการ Scan นี่ล่ะครับ ที่อาจเป็นเรื่องน่าเบื่อสำหรับคนที่มีปลั๊กอินในระบบเยอะ ๆ อย่างผู้เขียนเองที่รอการติดตั้งอยู่เกือบชั่วโมงแล้ว ยังต้องการการ Scan ปลั๊กอินอีกเกือบชั่วโมง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการ Scan นั้น ไม่ราบรื่นเท่าไร (บน Windows XP) เพราะเกิดปัญหาค้าง ทำให้เราต้องมาคอย Force Quit แล้วเปิดใหม่ให้มัน Scan ผ่านไป เป็นแบบนี้อยู่ 3 รอบ ถึงได้เล่น

clip_image008

Browser สำหรับเลือกเสียงจากชนิดของเครื่องดนตรี/ Mode/ แนวเพลง ขอยืมมาจากซอฟต์แวร์ดนตรีของ Apple

ในขณะที่บน Mac ที่ผู้เขียนไม่เคยลงปลั๊กอินอะไรเลย หลังจากติดตั้งก็เปิด KORE 2 ขึ้นมาเล่นได้ทันที ความประทับใจแรกของการเล่นนั้น ดีมาก ๆ ครับ เสียงต่าง ๆ ถูกจัดทำมาอย่างดี ให้ความรู้สึกในการเล่นที่สนุกเหมือนกับเล่น Keyboard Workstation คุณภาพของเสียงสังเคราะห์หรือเสียงที่มาจาก Synth Engine นั้น เชื่อขนมกินได้อยู่แล้ว ขณะที่เสียงที่เป็น Sample โดยเฉพาะเครื่องดนตรีปราบเซียนอย่าง Acoustic Piano นั้น ทำได้ระดับดี แต่ยังไม่ถึงขั้นประทับใจ โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับซอฟต์แวร์ประเภทเดียวกันอย่าง Apple Mainstage ซึ่งตรงนี้พอเข้าใจได้ครับ เพราะข้อมูลกว่า 5 GB นั้นถูกแชร์ให้กับเครื่องดนตรีหลายชิ้น ขณะที่ NI ต้องเลือกที่จะยอมเสียความเป็นธรรมชาติของเสียงเปียโน เพื่อแลกกับขนาดของโปรแกรมเสียงที่ไม่หนักมาก เพื่อที่จะสามารถใช้งานร่วมกับเสียงเครื่องดนตรีอื่น ๆ ภายในคอมพิวเตอร์เครื่องเดียวได้ และหากมันถูกนำมาใช้พร้อมกับเครื่องดนตรีอื่น ๆ ด้วยการเรียบเรียงที่ดี ผลลัพธ์ก็ออกมาดีเช่นกัน หรือหากใครต้องการ Piano Software ที่ดีกว่า ก็มีทางเลือกมากมายในท้องตลาดครับ ส่วนเสียงอื่น ๆ ก็อย่างที่บอกไว้ มันเป็นเสียงที่มาจากซอฟต์แวร์อินสตรูเมนต์ที่ถูกใช้ในการเพลงงานเสียงทั่วโลก ตั้งแต่สปอตของสถานีวิทยุท้องถิ่นบ้านเรา ไปจนถึงภาพยนตร์ฮอลลิวูด เชื่อว่าหลายท่านไม่สงสัยในเรื่องนี้อยู่แล้ว

clip_image010

Sound Metrix สำหรับจัดการ Signal Path บน KORE 2

clip_image012

เสียงแต่ละเสียงจะมีพารามิเตอร์ที่สร้างมารอไว้แล้ว ให้เราหมุน 8 พารามิเตอร์ แตกต่างกันตามแต่ Sound Designer จะออกแบบไว้ พรีเซตกว่า 500 เสียงจึงเล่นสนุกได้ทันที และให้แรงบันดาลใจที่ดีมาก ๆ โดยเฉพาะเวลาเราทำ Layer เสียงที่เจ๋ง ๆ ด้วยตัวเอง เสียงแต่ละเสียงยังมี Variation อีก 8 แบบ วิธีการเปลี่ยนจาก Variation หนึ่งไปอีกหนึ่ง ก็ทำได้ง่ายผ่านการหมุนปุ่ม ผลลัพธ์นั้นจะให้เสียงที่มีลักษณะ Morph จากเสียงหนึ่งไปอีกเสียงหนึ่ง ซึ่ง NI ได้ใส่ Feature นี้ไว้ในซินธ์รุ่นใหม่ ๆ ในไลน์ทั้งหมดด้วย เป็นการขยายขอบเขตให้กับพรีเซตเสียงได้อย่างชาญฉลาดมาก ๆ ทำให้การเป็น KORE SOUND format มีความหมายมากกว่าการเป็นแค่พรีเซตธรรมดาของซินธ์ตัวอื่น ๆ ครับ ผู้เขียนคิดต่อยอดไปอีกว่า หากวันหนึ่ง NI ได้เป็นพันธมิตรกับผู้ผลิตคีย์บอร์ดอย่าง KORG, ROLAND, YAMAHA แล้ว ก็มีโอกาสที่ KORE SOUND ไปวาดลวดลายบนคีย์บอร์ดซินธ์ได้เช่นกัน หรือถ้าไม่เป็นอย่างนั้น ก็เชื่อว่าแนวคิดจะถูก “ขอยืม” มาใช้ และวงการเทคโนโลยีดนตรีก็อาจเป็นวงการสุดท้าย (หรืออาจไม่มีวัน) ที่เราจะมีมาตรฐานกลางและเปิดกว้าง (นับจาก MIDI 1.0 ถึงปัจจุบันก็ 25 ปีแล้ว เรายังไม่เคยเห็น MIDI 2.0 อีกเลย)

clip_image014

รายชื่อเสียงที่ปรากฏในหน้านี้ จะเห็นผ่าน KORE Controller ด้วย ใช้ Jog Wheel ในการเลือกเสียงได้เลย

ระบบการ Navigate ต่าง ๆ ทั้งผ่านหน้า GUI ของซอฟต์แวร์หรือหน้า GUI ของ KORE Control ก็เข้าใจง่าย ๆ เล่นสนุกได้ตั้งแต่คราวแรก แต่ถ้าจะเล่นได้อย่างจริงจัง จำเป็นต้องปรึกษาคู่มือนิดหน่อยครับ เพราะซอฟต์แวร์มีความลึกในการใช้ระดับหนึ่ง ถ้าจะให้เทียบกับ Reaktor แล้ว ยังถือว่าน้อยกว่าและนักดนตรีจะเข้าใจได้ง่ายกว่า Reaktor ที่มีความลึกในระดับเล็กสุดของ DSP

แม้ว่า GUI จะดูเข้าใจค่อนข้างง่าย แต่เนื่องจากในวันนี้ KORE ไม่ได้เป็นซอฟต์แวร์ตัวเดียวที่ออกแบบมาเพื่อการแสดงสด ยังมี rax ของ Audiofile Engineering กับ Mainstage จาก Apple โดยเฉพาะตัวหลัง ถ้าใครได้ลองเล่นจะได้เห็นรูปแบบการออกแบบ User Interface ที่เหมาะสมแก่การนำไปใช้บนเวทีจริง ๆ โดยการวาง Visual Element ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นภาพคีย์บอร์ดหรือรายชื่อเพลงให้มีขนาดใหญ่พอที่นักดนตรีสามารถมองเห็นได้ในระยะ 1-1.5 เมตร ขณะที่ถ้าเป็น KORE แล้ว ออกแบบมาให้นักดนตรีใช้ KORE Controller เป็นตัวแทนในการเล่นมากกว่าจอคอมพิวเตอร์ เพราะถ้าไม่วางจอคอมพิวเตอร์ในระยะ 0.5 เมตร GUI ของซอฟต์แวร์ KORE จะเล็กมากจนแทบไม่มีความหมาย คือออกแบบมาโดยไม่คิดถึงการใช้จอคอมพิวเตอร์บนเวทีให้คุ้มค่านั้นเอง คาดว่า KORE เวอร์ชัน 3 น่าจะมีส่วนที่ให้เราใช้ประโยชน์จากจอคอมพิวเตอร์ได้แบบเดียวกับ Mainstage ครับ

clip_image016

แต่ถ้าเราไม่ได้คิดจะใช้ KORE ในการแสดงสด การใช้ KORE ทำงานเพลงและซาวน์ดีไซน์ในสตูดิโอนั้น แทบไม่มีที่ติครับ ใช้งานได้ดี ให้แรงบันดาลใจและเล่นได้สนุกเหมือนการเล่นกับ Keyboard Workstation จะมีจุดแพ้คือระยะเวลาในการโหลดเสียงนั้นช้าและไม่แน่นอน นั้นหมายความว่า ในการนำไปแสดงสด เป็นไปไม่ได้เลยที่เราจะใช้วิธีโหลดเสียงไปเล่นไป นอกจากจะสร้าง Performance ให้โหลดทุกอย่างรอไว้ก่อนเท่านั้น พลังของ CPU นั้นถูก KORE นำมาใช้อย่างคุ้มค่าเช่นเคย ซึ่งตรงนี้ก็เป็นประเดนสำคัญในการนำมาแสดงสดเช่นกันครับ ผู้เขียนพบว่าในแต่ละวันที่เล่น จะต้องมีอย่างน้อย 1 ครั้ง ที่เสียงสะดุด แตกพร่า เกิดสิ่งแปลกปลอม อันเนื่องมาจาก CPU ทำงานหนักจนเรนเดอร์เสียงไม่ทัน (อันนี้ Mainstage ก็เป็น แต่เกิดน้อยกว่า KORE) จะด้วยเหตุผลกลใดก็แล้วแต่ คอมพิวเตอร์เป็นสิ่งประดิษฐ์ที่ซับซ้อนและมีซอฟต์แวร์ที่ทำงานมากมายพร้อม ๆ กัน การนำไปใช้แสดงสดจึงจำเป็นต้องทำ Test Run จนมั่นใจเสียก่อนครับ ว่ามันจะไม่มีปัญหาใด ๆ ทั้งสิ้นในระหว่างเล่น และถ้าเราเข้าใจกระบวนการทำงานของคอมพิวเตอร์เราอย่างละเอียด ปิดซอฟต์แวร์บางตัวที่ทำงานอยู่เบื้องหลังโดยไม่จำเป็น ดูแลเรื่องโปรแกรมที่ติดตั้งอย่างรอบคอบ ผู้เขียนก็เชื่อว่าเราสามารถใช้คอมพิวเตอร์ในการแสดงสดอย่างดี

Service Center

clip_image018

ผู้เขียนใช้งานในโหมด Demo อยู่เกือบเดือน (คือเล่นได้ครั้งละ 30 นาที เซฟ Performance ไม่ได้) จนตัดสินใจว่าจะซื้อจริง ๆ แล้วเลยทำการ Activate ผ่านซอฟต์แวร์ Service Center ซึ่งเป็นระบบใหม่ล่าสุดของ NI เขียนบน Adobe Flash ในฐานะที่คุ้นเคยกับ Flash เป็นอย่างดี ก็นึกสงสัยว่าอาจไม่เหมาะนักที่ใช้ Flash มาทำ Application แบบนี้ ซึ่งผู้เขียนก็เจอปัญหาจริง ๆ คือไม่สามารถ Log in เข้าระบบได้ ทั้งที่ Log in ผ่านหน้าเว็บ NI ได้ตามปกติ จึงขอ Password มาใหม่ จึงจะทำการ Activate ได้ ขั้นตอนใช้เวลาไม่นาน ประมาณ 10-15 นาทีรวมการอัพเกรด Service Center ด้วย (เทียบกับคนใช้เวอร์ชัน Pirate ที่ไม่ต้องทำอะไรแบบนี้เลย ก็ถือว่านานมาก) การ Activate สามารถทำแบบ Offline ได้ คือนำ File ที่สร้างโดย Service Center เซฟใส่ Thumb Drive แล้วส่งไป Activate ผ่านเว็บด้วยคอมอีกเครื่องหนึ่งที่ต่ออินเตอร์เน็ต ทีม Support ก็ตอบคำถามผ่าน Email ทุกคำถาม หลังจาก Activate เสร็จเรียบร้อย ก็พบความดีของระบบนี้คือ จะมีระบบ Update Manager คอยบอกว่ามีเวอร์ชันใหม่ออกแล้ว และจะทำการดาวน์โหลดให้ด้วย แต่การดาวน์โหลดไฟล์ขนาด 200 MB นั้น เป็นไปได้อย่างทุลักทุเล ซึ่งอันนี้คงต้องโทษการเชื่อมต่อ ณ จุดใดจุดหนึ่ง ระหว่าง Server จากเยอรมันกับบ้านเรา ส่วนการดาวน์โหลดไฟล์ขนาดเล็กอย่างไดร์เวอร์ตัวใหม่นั้นไม่มีปัญหาอะไรครับ

หลังจากการ Activate ในครั้งแรก ผู้เขียนก็พบปัญหาอีกอย่างคือ ซอฟต์แวร์ KORE 2 ไม่เห็นว่ามีการ Activate แล้ว เรียกร้องให้เราซื้อหรือ Activate ตลอด ผู้เขียนลอง Reboot เครื่องหนึ่งรอบ ถึงจะทำงานได้ปกติ ซึ่งปัญหาเหล่านี้คาดว่าจะมาจากการใช้ Flash ทำ Application นั้นเองครับ Flash มีข้อดีอย่างมหาศาลคือการที่นักออกแบบสามารถใช้มันเนรมิตตามแต่ใจคิดได้อย่างเร็ว แต่จะมีปัญหากับการสื่อสารกับระบบข้างนอก ซึ่งทำได้ไม่ดีเท่าไร แต่หลังจากผ่านประสบการณ์แปลก ๆ มาแล้ว ทุกอย่างก็ใช้งานได้ดีตามปกติ

KORE 2 Controller + MIDI Keyboard

clip_image020ผู้เขียนมี MIDI Keyboard อยู่ 2 ตัวด้วยกัน คือ Remote SL 25 ตัวนี้มีแค่ 25 คีย์ แต่ข้อดีของมันคือมันจะแสดงพารามิเตอร์ทั้งหมดของ Plugin ที่มันดูแลอยู่ ผ่านทางจอ LCD อยู่แล้ว ขณะที่ อีกรุ่นคือ CME UF8 ตัวนี้มีจอ LCD บอกตัวเลขเท่านั้นเอง ผู้เขียนพบว่าการนำ KORE 2 Controller มาวางบน UF8 นั้น มันจะเสริมหน้าที่กันและกันได้อย่างดี โดยผู้เขียนสามารถกดปุ่มเลือกเสียงได้จาก KORE 2 Controller ได้เลย ไม่จำเป็นต้องทำผ่านจอคอมพิวเตอร์เหมือนแต่ก่อน ซึ่งเรื่องนี้ทำให้การใช้งาน MIDI Keyboard ธรรมดานั้น ใกล้เคียงกับการเล่นคีย์บอร์ดเวิร์กสเตชั่นมากขึ้น แต่มีข้อเสียนิดหน่อยคือการโหลดเสียงแต่ละเสียง ใช้เวลาประมาณ 2-8 วินาที มือคีย์บอร์ดเล่นสดอาจไม่ค่อยชิน แต่ถ้าต้องการเสียงที่เรียกแรงบันดาลใจ รอนิดรอหน่อยก็คุ้มค่าครับ

ส่งท้าย

จากที่กล่าวมาท่านผู้อ่านจะเห็นว่านอกจากเรื่องของเสียงที่เยี่ยมยอดแล้ว KORE 2 ยังมีข้อบกพร่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ในจุดต่าง ๆ บ้าง ในแง่ของการแสดงสด KORE 2 ไม่ได้เป็นซอฟต์แวร์ตัวเดียวที่ออกแบบมาเพื่อการเล่นสดจริง ๆ แต่ KORE 2 มีจุดเด่นมาก ๆ ที่ไม่มีซอฟต์แวร์ตัวไหนให้ได้คือเป็น Host ที่ยอดเยี่ยมสำหรับปลั๊กอินของทาง NI ใครเป็นแฟนค่ายนี้หรือเหล่า Synth Freak จึงไม่ควรพลาดเครื่องมือที่เล่นสนุกและสร้างแรงบันดาลใจได้เช่นนึ้ ซาวน์ดีไซเนอร์จะได้เครื่องมือที่เพิ่มผลผลิตอย่างรวดเร็วในราคาถูกที่สุดเท่าที่ปัจจุบันจะหาได้ นักดนตรีแสดงสดที่ไม่ค่อยเชี่ยวชาญ Computer Music หรือยังไม่แน่ใจว่า KORE 2 จะช่วยอะไรได้บ้าง ก็น่าจะมองข้ามตัวนี้ไปเล่นคีย์บอร์ดเวิร์กสเตชั่นที่ออกแบบมาเพื่อการนี้โดยตรงจะดีกว่า แต่หากเป็นนักดนตรี Live Band ที่ใช้คอมพิวเตอร์เล่นอยู่แล้ว เข้าใจข้อจำกัดและข้อดีต่าง ๆ ของระบบนี้ดี KORE 2 จะช่วยสร้างสีสันให้กับการแสดงอย่างมาก ๆ ด้วยเสียงที่เป็นเอกลักษณ์และหาได้ยากบนคีย์บอร์ดตามท้องตลาดครับ

สนใจติดต่อตัวแทนจำหน่ายอย่างเป็นทางการ Pro Plugin : www.proplugin.com