ในช่วงเวลานี้ หากถามว่าเครื่องเกมพกพาตัวไหนมาแรงสุด ๆ คำตอบคงไม่พ้น Nintendo DS (Dual Screen) อย่างแน่นอนครับ (ทำยอดขายถล่มทลายทั่วโลกกว่า 30 ล้านเครื่องแล้ว) หากเราไม่ติดใจเรื่องขนาดของหน้าจอที่เล็กกว่า Sony PSP เราจะพบว่ามันมีประโยชน์ตรงที่ได้มาถึงสองจอ และหนึ่งในนั้นเป็นทัชสกรีนอีกต่างหาก จึงมีรูปแบบของเกมสนุก ๆ มากมายที่ใช้ประโยชน์จากทัชสกรีนนี้ ไม่เว้นแม้แต่ซอฟต์แวร์ดนตรีที่เป็นประเดนหลักของเราในตอนนี้ครับ

ซอฟต์แวร์เกือบทั้งหมดที่นำมาแนะนำให้รู้จักกันนั้น ไม่ได้เป็นซอฟต์แวร์ที่ผลิตโดยผู้ผลิตที่จดทะเบียนกับ Nintendo อย่างถูกต้อง เราเรียกผู้ผลิตประเภทนี้ว่า Homebrew ครับ (ที่มาของคำนี้มาจากการหมักเบียร์ดื่มกันเองตามบ้าน เมื่อนำมาประยุกต์ใช้กับวงการซอฟต์แวร์ ก็เข้าใจได้ทันที ปัจจุบัน Homebrew Software นั้นนิยมทำกันมากทั่วโลก ในเมืองไทยยังไม่ค่อยเห็นเท่าไร) ซึ่งซอฟต์แวร์ประเภทนี้ ไม่ได้ทำออกมาเป็นตลับวางขายกันทั่วไป แต่มักจะเป็นฟรีแวร์แจกให้ดาวน์โหลด แล้วผู้เล่นก็ทำการสำเนาลงหน่วยความจำอย่าง CF หรือ SD เพื่อนำไปใช้กับ Adaptor อย่าง M3 Perfect หรือ Supercard (แต่จะทำแบบนี้ได้ต้องมีการ Flash ตัว Firmware เสียก่อน ซึ่งทางร้านที่ขายเครื่อง จะมีบริการนี้ด้วยในราคาประมาณ 200 บาท) และนอกจากนี้แล้ว เรายังสามารถใช้เครื่อง NDSอ่านหนังสือ (ไฟล์ HTML) ฟังเพลง (MP3) และยังดูวิดีโอจากการ์ดเหล่านี้อีก ทั้งยังสามารถโหลดเกมเกือบทั้งหมดของ NDS หรือแม้แต่ Gameboy Advance (GBA) มาเล่นได้ด้วย (ทั้งสองแพลทฟอร์มนี้รวมกันก็น่าจะมีเกมเป็นหลักพัน ยังไม่นับ Homebrew Software อีกมากที่ออกมาแล้ว และกำลังจะออกมาให้เราได้ใช้ประโยชน์มันอย่างเต็มที่อีกด้วย) ที่กล่าวมานี้เอง เป็นเหตุผลให้ NDS ขายดีไปทั่วโลก ไม่เว้นแม้แต่บ้านเราครับ ฟังดูน่าสนใจสำหรับนักดนตรีอย่างเรา ๆ หรือยัง? ถ้ายัง เรามาดูซอฟต์แวร์ดนตรีเพื่อนักดนตรีกันดีกว่า

ถึงวันนี้แล้วก็มีซอฟต์แวร์บน NDSที่เกี่ยวข้องกับดนตรีมาพอสมควรครับ ผู้เขียนขอคัดมาแนะนำให้รู้จักกัน (เพราะบางตัวเป็นเพียงเกมที่เล่นเข้าจังหวะสไตล์ Beat Mania ไม่น่าสนใจเท่าไร) ตัวแรกเป็นซอฟต์แวร์ทำเพลงสไตล์ Tracker ที่ชื่อ NitroTracker”

NitroTracker http://nitrotracker.tobw.net

ก่อนอื่น ขออนุญาติอธิบายสำหรับมือใหม่ให้รู้จักกับ Tracker เสียก่อน มันก็คือซอฟต์แวร์ซีเควนเซอร์แบบเรียบง่าย ที่ให้เราวางลำดับของไฟล์แซมเปิ้ลเสียง เป็นสเตป ๆ และเป็นโมโนโฟนิกต่อหนึ่งช่องสัญญาณ (การเล่นคอร์ดหรือเล่นเสียงมากกว่าหนึ่งโน้ตพรุ้อม ต้องเพิ่มช่องสัญญาณ) หน้าอินเตอร์เฟซก็จะมีแต่ตัวเลข คอยบอกว่าตัวเองเล่นโน้ตอะไร อยู่ลำดับที่เท่าไร ดังนั้นการทำให้เสร็จเป็นเพลงจึงต้องใช้หลายช่องสัญญาณ ซึ่งแต่ละช่องจะมีไฟล์แซมเปิ้ลของมันอยู่ครับ มันจึงเป็นซอฟต์แวร์ทำเพลงที่ค่อนข้างปวดหัวสำหรับมือใหม่ โดยเฉพาะผู้ที่เคยทำงานบนซอฟต์แวร์ DAW ที่มีเครื่องอำนวยความสะดวกมากมายอย่างในปัจจุบัน อาจไม่ชินกับข้อจำกัดของมันเท่าไร แต่ผู้ที่ใช้ทำงานจนชินแล้ว ทุกอย่างก็เป็นเรื่องง่าย โดยเฉพาะรูปแบบการใช้ที่คลาสสิคของมัน เป็นเหตุผลว่าทำไม มันจึงมีตัวตนและพัฒนาตัวเองอยู่ในปัจจุบันครับ

ModPlug Tracker หน้าตาอาจดูโบราณหน่อย แต่ฟรีและใช้งานได้ดี

หากท่านผู้อ่านยังไม่มีเครื่อง NDS แล้วอยากลองทำงานเพลงบน Tracker ก็สามารถดาวน์โหลดมาทดลองใช้ได้ มีตั้งแต่ตัวที่ไม่ฟรีอย่าง ModPlug Tracker (http://www.modplug.com) บน Windows เท่านั้นหรือแบบเสียตังค์ (50 ยูโรทั้ง Mac และ Windows) แต่อุดมไปด้วย Features และหน้าตาที่ทันสมัยอย่าง ReNoise (http://www.renoise.com) และอื่น ๆ อีกมากบนแพลทฟอร์มต่าง ๆ หรือจะใช้ Google หาก็สุดแท้แต่ความสะดวกครับ มีให้เลือกใช้มากมายจริง ๆ


ReNoise หน้าตาทันสมัย ทั้งยังผนวกกับความสามารถใหม่ ๆ เข้าไปอีกมากมาย

กลับมาเข้าเรื่องของ NitroTracker กันต่อครับ มันเป็น Tracker สไตล์เดียวกับ Fast Tracker 2 ที่เป็นต้นแบบของ Tracker อื่น ๆ อีกหลายตัว (รวมไปถึงModPlug tracker ด้วย แต่ยุติการพัฒนาไว้ตั้งแต่ปี 1999) มันสนับสนุนไฟล์ XM-eXtended Module ซึ่งไฟล์นี้มีองค์ประกอบหลายส่วนครับ โดยเป็นทั้ง Multi-Sampling Instrument แบบมัลติแทรค (หนึ่งแทรคต่อหนึ่งเวฟไฟล์) พร้อม Volume/Pan Envelope และบีบอัดข้อมูลเสียงในตัวเอง รวมไปถึงลำดับของตัวโน้ต คล้ายกับไฟล์ MIDI ซึ่งเราสามารถนำไฟล์นี้ไปเปิดกับโปรแกรม Winamp เพื่อฟังเพลงได้ทันทีครับ (ขณะที่ MIDI ไม่มีเสียงในตัวเอง เป็นเพียงแค่ลำดับของตัวโน้ตและคอนโทรลเลอร์ มันจึงต้องการแหล่งเสียงจากอุปกรณ์ในระบบ) ชื่อ NitroTracker นั้น ก็มาจากรหัสลับ (Codename) ที่ใช้เรียก NDS ในระหว่างการพัฒนาว่า “Project Nitro”ก่อนที่จะกลายเป็นชื่อเรียกในปัจจุบันนั้นเองครับ

หน้าหลักของ NitroTracker สังเกตว่าภาพล่างสุดจะมีคีย์บอร์ดเล็ก ๆ ซึ่งเราจะสามารถใช้ Stylus จิ้มโน้ตเล่นได้เลย

การทำงานเพลงบน NitroTracker นั้น เข้าใจง่ายมาก โดยเฉพาะผู้ที่คุ้นเคยกับการทำเพลงบน Tracker อยู่แล้ว จะชอบมัน ด้วยเหตุที่ว่าเราสามารถใช้ Stylus จิ้มได้เลย ไม่ว่าจะจิ้มคีย์บอร์ดเพื่อป้อนโน้ต ไปจนถึงการอิดิต ทุกอย่างจะเน้นการใช้ Stylus แม้แต่การป้อมชื่อแทรคหรือชื่อเพลง ก็จะมีคีย์บอร์ดแสดงไว้ให้จิ้มได้เลยครับ


คีย์บอร์ด QWERTYสำหรับป้อนชื่อเพลงหรือชื่อแทรค

การโหลดเพลงหรือ Sampler ซึ่งเป็นไฟล์ XM นั้น จะมี Browser ให้โหลดได้เลย โดยเราต้องนำไฟล์ XM ใส่ไว้ในแผ่น SD/CF ของเราด้วยครับ เรายังสามารถใช้ไมค์ที่ติดมากับตัวเครื่อง บันทึกเสียงเข้าไปใช้เป็นอินสตรูเมนต์ได้ด้วย (ถ้ามี Line-in มาให้ มันจะกลายเป็นเครื่องมือที่วิเศษกว่านี้อีกมาก) หลังจากบันทึกไปแล้ว มันจะมีเครื่องมืออย่างง่าย ๆ สำหรับการอิดิต เช่น Fade-in/out หรือตัดส่วนที่ไม่ต้องการทิ้งไปโดยใช้ Stylus ซึ่งช่วยให้เราอิดิตได้สะดวกมาก


หน้า Browser สำหรับโหลดเพลงหรือ Sampler


บันทึกเสียงจากไมค์เข้ามาใช้เป็นอินสตรูเมนต์ได้


เมื่อบันทึกแล้ว จะแสดงเวฟฟอร์มให้เราได้เห็นชัด ๆ


หากต้องการตัดต่อซีเควนซ์ ก็สามารถสลับน่าจอลงมา เพื่อใช้งานทัชสกรีนได้

จากการทดลองเล่นมาในระยะหนึ่ง ผู้เขียนพบว่ามันเล่นสนุกมาก ๆ ครับ บางครั้งเรายังใช้มันบันทึกเสียงพูดหรือเสียงร้องเพลง แล้วนำมา Resynthesis ที่ Pitch ต่าง ๆ เป็นทริกง่าย ๆ ไว้หลอกเด็ก ๆ หรือสาว ๆ ได้อีกด้วย ข้อด้อยของมันก็คือ หากไม่คุ้นกับการทำเพลงบน Tracker แล้ว จะเห็นว่ามันเป็นเรื่องยากลำบากมาก หากตัวซีเควนเซอร์ทำเป็นลักษณะ Piano Roll อย่างที่นิยมในปัจจุบัน จะเล่นสนุกมากกว่านี้ เพราะจะเขียนโน้ตเป็น Polyphonic ได้ อันที่จริง NDS ไม่ได้ออกแบบมาเพื่อทำอะไรแบบนี้แต่แรกแล้ว แต่การที่มีใครซักคน ริเริ่มให้มันทำอะไรแบบนี้ได้ ก็ถือเป็นเรื่องที่ดีไม่น้อย และคาดว่าอีกไม่นาน แนวคิดเหล่านี้จะเป็นแรงบันดาลใจให้เกิดฮาร์ดแวร์มือถือสำหรับทำงานดนตรีที่จริงจังกว่านี้ได้ครับ จากตรงนี้ แค่เพิ่ม Audio I/O ให้เป็นโปรมากขึ้น เพิ่ม USB สำหรับโหลด Sample เข้ามาตรง ๆ ได้ก็เยี่ยมแล้ว หรือเพิ่มความแรงของ CPU ให้มากขึ้น เพื่อรันเรียลไทม์เอฟเฟกต์ได้มากขึ้น ผู้เขียนมั่นใจว่า ยอดขายคงวิ่งฉิวเลยล่ะครับ จากนี้ นับไปอีก 3-5 ปี เรามาคอยลุ้นกันครับ ว่าคำทำนายนี้จะเป็นจริงหรือเปล่า

แต่อย่างไรก็ตาม บน NDS ก็จะมี Homebrew Music Software ที่ใช้ประโยชน์จากทัชกรีน ตามมาอีกมากมายครับ เช่นดรัมแมชชีน หรือซินธีไซเซอร์ต่าง ๆ หรืออาจมีซอฟต์แวร์ที่ใช้ตัวมันเป็น MIDI Controller ได้ โดยใช้ Wi-Fi บนตัว NDS เป็นตัวกลางสื่อสาร แค่ฟังดูก็น่าสนุกแล้วใช่ไหมล่ะ งั้นเรามาดูซอฟต์แวร์ดนตรีตัวต่อไปเลยครับ เป็น Interactive Music Software ที่ชื่อ Electroplankton”

Electroplankton <http://electroplankton.nintendods.com>

ซอฟต์แวร์ตัวนี้ไม่ได้เป็น Homebrew เหมือนกับ NitroTracker แต่สร้างโดย Nintendo ผู้สร้าง NDS เลยล่ะครับ ผู้อยู่เบื้องหลัง Electroplankton คือ Toshio Iwai ผู้ออกแบบสร้าง Tonori-On ที่เคยนำมาเล่าสู่กันฟังในตอนก่อน ๆ ไอเดียทุกอย่างของ Electroplankton นั้นมาจากของ 4 อย่าง ที่เสมือนเป็นลมหายใจในวัยเด็กให้กับ Toshio Iwai เลยล่ะครับ ซึ่งของ 4 อย่างนั้นก็คือ กล้องจุลทรรศน์ เครื่องบันทึกเทป ซินธีไซเซอร์และเครื่องเล่นเกม NES


Toshi Iwai กำลังบรรยายบนเวทีในงาน Art Furura 2005 ที่เมืองบาเซโลน่า

กล้องจุลทรรศน์นั้นเป็นของเล่นของ Toshio มาตั้งแต่ชั้นประถม (ยกให้เป็นเจ้าพ่อแห่งGeek ไปเลย) เค้าจะใช้มันส่องแทบทุกอย่างเท่าที่หามาได้ และหลงใหลสุด ๆ เมื่อเค้าได้สัมผัสโลกของแพลงตอน…

จุดเริ่มต้นที่สองคือตอนที่เค้าได้เครื่องบันทึกเทปมาเล่นในตอนมัธยม เค้าบันทึกทุกอย่างที่ได้ยินได้ฟังหรือเล่นดนตรี หรือแม้แต่หัดทำรายการวิทยุ (สิ่งนี้น่าจะเหมือนกับท่านผู้อ่านหลายท่านที่เป็นจุดเริ่มต้นหลงใหลการบันทึกเสียง)

ซินธีไซเซอร์เป็นอุปกรณ์อีกชิ้นที่ขับเคลื่อน Toshio เค้าได้มันมาในช่วงเรียนมหา’ลัย เค้าได้เริ่มใช้มันคู่กับคอมพิวเตอร์ในการสร้างเสียงประกอบอนิเมชั่น และเพราะว่าเค้าเล่นคีย์บอร์ดไม่เป็น เค้าเลยใส่ใจกับการสร้างเสียงมากกว่า

และสุดท้ายคือเครื่องเล่นเกม NES ซึ่งในช่วงที่มันออกใหม่ ๆ Toshio ยังเรียนอยู่ในมหา’ลัยเช่นกัน มันทำให้ Toshio สัมผัสโลกใหม่ ที่เค้าไม่เคยคิดฝันมาก่อน นั้นเป็นเพราะเกมคอมพิวเตอร์ต่างจากสื่อทั้งหมดที่เค้าเคยทำมา เค้าสามารถควบคุมตัวละครอย่างมาริโอได้อย่างอิสระ รวมไปถึงเสียงที่สอดคล้องกับภาพเช่นตอนมาริโอกระโดด หรือแม้กระทั่งกำหนดทุกอย่างด้วยตัวเอง โดยเป็นโปรแกรมเมอร์เขียนเกมขึ้นมาใหม่ และสิ่งของทั้งหมด 4 อย่างนี้ เป็นวัตถุดิบที่ถูกประกอบเข้ากันเป็นซอฟต์แวร์อินเตอร์แอคทีฟมิวสิคอย่าง Electroplankton นี่เองครับ

Hanenbow เป็น 1 ใน 10 แพลงตอน ที่ถูกปล่อยจากน้ำ ขึ้นไปกระทบใบไม้ เป็นเสียงดนตรีไพเราะ เราสามารถควบคุมมุมตกกระทบของใบไม้ และความเร็วในการปล่อยได้ และหากใบไม้ทุกใบเปลี่ยนเป็นสีแดง ก็จะมีดอกไม้บานที่ยอดกิ่ง เป็นรูปแบบที่คล้ายเกมที่สุดเมื่อเทียบกับแพลงตอนตัวอื่น ๆ เพราะมีจุดหมายในการเล่น (ถ้าต้องการ) ขณะที่แพลงตอนตัวอื่น ๆ จะใช้เล่นดนตรีสนุก ๆ เท่านั้น

แม้มันจะดูหน้าตาเป็นเกม แต่มันไม่มีกฏของการเล่น ไม่มีคะแนน ไม่มีจุดจบ ไม่มีการแข่งขัน จึงเรียกมันเป็นเกมได้ไม่เต็มปากนัก เราสามารถที่จะเล่นกับตัวละครและสภาพแวดล้อมเพื่อให้เกิดการสร้างเสียง ในรูปแบบต่าง ๆ คล้ายกับการเล่นดนตรี แต่อาจต่างจากการเล่นดนตรีตรงที่ การเล่นดนตรีมักจะเล่นตามจินตนาการที่เราคิดไว้ อย่างเช่นเราดีดกีตาร์เสียงโด มี ซอล เสียงที่ได้ก็จะออกมาเหมือนหรือใกล้เคียงกับที่เราจินตนาการเอาไว้ก่อน ขณะที่การเล่นกับซอฟต์แวร์ตัวนี้ เราจะคาดหวังผลลัพธ์ได้น้อยกว่าการเล่นดนตรีลงมาหน่อย หรือบางครั้งก็ไม่อาจคิดถึงเลยว่าผลจะออกมาเป็นอย่างไร แต่เสียงที่เล่นออกมาให้เราได้ฟังนั้น ไพเราะน่าสนใจครับ ทีมผลิตไม่ได้ออกแบบเสียงให้หลุดออกจากโลกของความเป็นจริงเท่าไร เสียงส่วนใหญ่เราจะคุ้นหูอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นเสียงเปียโน, Music Box, Chime, Xylophone ฯลฯ หรือกรณีที่เป็นเสียง Pad สังเคราะห์ ก็จะมีเนื้อเสียงที่ฟังกลมกล่อม เพื่อให้ Electroplankton เป็นที่นิยมในวงกว้าง (แต่ก็ถือว่าความนิยมใน Electroplankton จะยังอยู่ในวงแคบ เมื่อเทียบกับเกมกระแสหลักทั่วไป)


แกงค์ปลา 4 สี Rec-Rec จะจำเสียงที่เราบันทึกผ่านไมค์ แล้วนำมา Playback ประกอบดนตรี เราสามารถเปลี่ยนเพลง และควบคุมจังหวะได้

ตัว Plankton ที่เราสามารถเลือกนำมาเล่นได้นั้น จะมีอยู่ 10 ชนิด มีอยู่ 2 ชนิดที่สามารถเก็บเสียงของเราเอาไว้ เพื่อนำมา Playback ทีหลังได้ ตัวอื่น ๆ นั้น มีแนวคิดต่าง ๆ กันออกไป ส่วนใหญ่แล้ว จะเน้นให้เราเล่นกับมันได้อย่างง่าย ๆ เช่นจิ้มที่ตัวมัน ลากเส้น กดปุ่ม ฯลฯ ก็จะเกิดเสียงในรูปแบบต่าง ๆ ที่สัมพันธ์กันกับภาพ และมันจะอลังการกว่านี้ หากมันเปลี่ยนตัวเองไปในรูปแบบ Installation Art ไปแสดงตามงานต่าง ๆ ซึ่งการหากเป็นเช่นนั้นแล้ว ผู้คนที่ได้สัมผัสมันก็จะน้อยกว่า และไม่ลึกซึ้งเท่ากับการที่แต่ละคน สามารถสำรวจมันได้อย่างเต็มที่ในรูปแบบมือถือแบบนี้ครับ

Electroplankton ยังไม่อาจเป็นเครื่องดนตรีที่เราฝึกจนช่ำชอง แล้วนำไปแสดงความสามารถให้เป็นที่ประจักษ์ได้ หากแต่มันจะทำให้ผู้ได้สัมผัส ประทับใจแค่เพียงไม่กี่วินาทีที่เริ่มมองดูมัน

Nanocorp ทำงานกันเป็นทีมเวิร์กครับ มันจะฟังสัญญาณการตบมือจากเรา หากเราตบมือเป็นจังหวะต่าง ๆ มันก็จะเรียงตัวกันเป็นรูปแบบต่าง ๆ เช่นเส้นตรง รูปหัวใจ วงกลม ม้า แอพเปิ้ล ฯลฯ

หากเราเอาปากกา Stylus ออกมาจิ้มแล้วหมุนๆๆๆ ที่ตัว Lumiloop ตัวของมันก็จะหมุนตามความเร็วของเรา ไม่ว่าจะตามเข็ม หรือทวนเข็ม ยิ่งหมุนเร็วเท่าไร ตัวมันก็จะส่งเสียงดังขึ้นเท่านั้น พร้อมกับส่งเสียงแพดออกมาไพเราะจับใจ

Marine-Snow มีเสียงที่ไพเราะมากครับ มันแบ่งย่อยออกเป็นเสียงเปียโน ไซโลโฟน มิวสิคบ็อคและเสียงระฆัง จิ้มไปที่ตัวมันเหมือนกับจิ้มคีย์บอร์ดเพื่อเล่นเสียงได้เลย

ยังมีรายละเอียดปลีกย่อยที่อยากจะนำมาเล่า แต่เกรงว่ามันจะเยอะเกินไป และคิดว่าหากท่านผู้อ่านได้สัมผัสมันด้วยตัวเอง จะซึมทราบรายละเอียดต่าง ๆ เหล่านั้นได้ดีกว่าElectroplankton นั้นไม่ฟรีเหมือนกับ NitroTracker ครับ ราคาของมันนั้นจะอยู่ที่ประมาณ 1800-2000 บาท ซึ่งเป็นราคาของซอฟต์แวร์เกมของ NDS เลย แต่อย่างไรก็ตาม หากท่านผู้อ่านมี Adaptor card แบบที่บอกไว้ในตอนต้น ก็สามารถดาวน์โหลดมันมาลองเล่นก่อนตัดสินใจซื้อเพื่อสนับสนุนคนทำได้ ราคาสองพันบาทสำหรับค่าประสบการณ์และจินตนาการของคน ๆ หนึ่งตลอดระยเวลาหลายปีที่ผ่านมา ถือว่าไม่แพงเลยครับ มันเหมาะสำหรับผู้ที่ชอบใน Interactive Music ไปจนถึงนักดนตรีที่มองหาอะไรใหม่ ๆ ในการสร้างแรงบันดาลใจ และนำไปใช้เล่นสนุก ๆ กับคนรอบตัวได้อีกต่างหาก หากท่านผู้อ่านเป็นนักดนตรี ชอบเล่นเกม และชอบค้นหาอะไรใหม่ ๆ ให้กับตัวเองแล้วล่ะก็ แนะนำให้ถอย NDS แล้วหาซอฟต์แวร์เหล่านี้มาลองได้เลย หรือถ้ากลัวจะหาไม่ได้ สามารถติดต่อผู้เขียนได้ที่ 089-105-2864 ทุกวัน ในเวลานักดนตรีครับ

สนับสนุนโดยนิตยสาร The Absolute Sound & Stage

ขอขอบคุณนาย BrIgTH ที่ให้ยืมเครื่อง NDS สำหรับเปิดประสบการณ์ใหม่ ขออวยพรให้กะละแมก๊วนขายดีในงาน FAT ปีนี้อีกครับ