olpc

หากติดตามข่าวสารในวงการ Virtual Studio มาซักหน่อย ท่านผู้อ่านน่าจะรู้จัก “TamTam” ซอฟต์แวร์ดนตรีที่พัฒนาขึ้นเพื่อใช้งานบนแลปท๊อป “XO-1” โดยเฉพาะ XO-1 หรือชื่อเดิมคือ OLPC-One Laptop Per Child เป็นโครงการดี ๆ ที่จัดตั้งขึ้นมาเพื่อให้เด็กในประเทศยากจนที่ไม่มีโอกาสเข้าถึงเทคโนโลยีสารสนเทศ สามารถใช้งานคอมพิวเตอร์แลปท๊อปในราคาถูก (ประมาณ 100$) เพื่อลดช่องว่างในการเข้าถึงแหล่งความรู้ รวมไปถึงความบันเทิงต่าง ๆ ที่เด็ก ๆ ในประเทศพัฒนาแล้วหรือบ้านมีฐานะหน่อยมีได้ โครงการนี้ไม่ได้ทำขึ้นมาเพื่อหวังผลกำไรครับ เมื่อทำเสร็จส่งมอบให้กับรัฐบาลประเทศต่าง ๆ โดยให้รัฐบาลประเทศนั้น ๆ รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ ซึ่งตอนแรกในบ้านเราก็มีข่าวว่าจะล้มโครงการตอนผลัดรัฐบาลใหม่ แต่สุดท้ายแล้ว เราก็ได้เครื่องทดสอบ 30 เครื่องแรก โดยเด็ก ๆ ในจังหวัดลำปางเป็นกลุ่มผู้โชคดีที่มีโอกาสได้ใช้ ซึ่ง Nectec เป็นผู้ดูแลโครงการนี้ในประเทศไทย

หัวใจสำคัญของ XO-1 นอกจากซอฟต์แวร์พื้นฐานต่าง ๆ ที่จำเป็นแล้ว คือระบบ Mesh Network ครับ เด็ก ๆสามารถต่อเครื่อง XO-1 เข้ากับเพื่อน ๆ ในห้องอย่างง่ายดาย แล้วร่วมกันสร้างงานศิลปะอย่างวาดรูป หรือเล่นดนตรีแจมกันได้

OLPC-800px-Frame

อินเตอร์เฟซในการเชื่อมโยงคอมพิวเตอร์เข้าด้วยกันเป็น Mesh เพื่อร่วมมือในการทำงาน ไม่ว่าจะเป็นวาดรูป เล่นเกม หรือแม้แต่เล่นดนตรี สัญลักษณ์รูปวงกลมและมีกากบาทข้างใต้ แทนเด็กหนึ่งคนหรือแลปท๊อปหนึ่งเครื่อง

ตัวฮาร์ดแวร์ แม้จะมีสเปคไม่สูงนักเมื่อเทียบกับคอมพิวเตอร์ตามบ้านในปัจจุบัน แต่ก็ออกแบบให้ใช้พลังงานน้อยและเน้นการใช้ความสามารถในการเชื่อมโยงเครือข่ายทั้งกับ XO-1 ด้วยกันและเครือข่ายอินเตอร์เน็ต ที่สำคัญคือมีราคาถูกมาก ๆ แม้แต่ผู้เขียนเองก็ยังอยากได้ไว้ใช้ (แย่ง) กับเด็ก ๆ ด้วยเช่นกัน

ถึงวันนี้แล้ว ยังไม่มีการยืนยัน 100% ครับ ว่ารัฐบาลบ้านเราจะซื้อ XO-1 มาแจกเด็ก ๆ หรือเปล่า แต่อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนก็ได้ซอฟต์แวร์ระบบปฏิบัติการ XO-1 แบบ Live CD มาทดลองใช้แล้ว ด้วยเหตุที่ว่า XO-1 จะมีผลค่อนข้างแรง กว้างและลึกต่อการศึกษาของเด็ก ๆ ทั่วโลก ผู้เขียนจึงสนใจใคร่รู้ว่า Tam Tam ซึ่งเป็นซอฟต์แวร์ดนตรีเพียงตัวเดียวบน XO-1 นั้น เป็นเช่นไร จึงขอนำมารีวิวสู่ท่านผู้อ่านที่คาดว่าจะสนใจด้วยครับ หากท่านผู้อ่านสนใจที่จะทดลองเล่นได้ด้วยตัวเอง สามารถดาวน์โหลดและอ่านข้อมูลที่จำเป็นได้ที่ www.laptop.org CD Image มีขนาดประมาณ 300 MB เท่านั้น พัฒนาจาก Fedora Core และเนื่องจากเป็น Live CD เราจึงไม่จำเป็นต้องติดตั้งบน Harddisk เลยครับ บูตแล้วเล่นได้เลย

ซอฟต์แวร์อื่น ๆ บน XO-1

welcome screen

Welcome Screen หลังจากบูตเสร็จแล้ว ใส่ชื่อและเลือกสีที่จะใช้เป็นตัวแทนใน Mesh Network ไม่มีระบบ Password ให้ยุ่งยาก

main

เข้าสู่หน้าหลักที่ยังไม่มีโปรแกรมโหลด GUI ที่ใช้เป็นหน้ากากนี้เรียกว่า “Sugar” เขียนด้วยภาษา Python

ไหน ๆ ก็จะทำบทรีวิวแล้ว ขอพูดถึงซอฟต์แวร์อื่น ๆ บน XO-1 บ้าง เผื่อท่านผู้อ่านที่สนใจแต่ไม่มีเวลาลองด้วยตัวเองครับ ซอฟต์แวร์อื่น ๆ บน XO-1 ก็มี Paint ซึ่งก็เหมือนกับ Paint ของค่าย Microsoft ต่างกันตรงที่ระบบ Collaboration หรือการทำงานร่วมกันนี่ล่ะ ถัดมาคือเกม BlockParty หรือเตอตริสที่เราคุ้นเคย ซึ่งในฐานะที่ผู้เขียนเล่นเกมนี้มาตั้งแต่ 9 ขวบ คงต้องบอกว่าน่าผิดหวังครับ ทั้งภาพและเสียง (ไม่มีเสียง) แต่ก็ยังมีความหวังเล็ก ๆ ว่าทางผู้พัฒนาจะปรับปรุงอีกเรื่อย ๆ ซึ่งดูจากชื่อแล้ว จุดแข็งของเกมนี้น่าจะเป็นระบบการเล่นแจมกับเพื่อน ๆ ด้วย 3 ตัวถัดมาคือ Camera, Write และก็ News Reader ครับ ตัว Camera มีอินเตอร์เฟซคล้ายกับบนโปรแกรมถ่ายรูปที่แถมมากับ Mac OS แต่เนื่องจากกล้องที่ใช้อยู่ไม่มีไดรเวอร์ จึงไม่ได้ทดสอบในส่วนนี้ครับ ส่วน Write นั้นเรียบง่ายมาก ๆ ครับ ใช้พื้นฐานจาก AbiWord ตัดฟังก์ชันให้เหมาะกับการเขียนเรียงความทั่ว ๆ ไป เข้าใจว่าต่อไปน่าจะมีระบบเครื่องหมายคณิตศาสตร์มาให้เด็ก ๆ ใช้ทำการบ้านได้เลย News Reader สมควรมีตามยุคสมัย ทำออกมาได้เรียบง่าย ใช้ง่ายไม่ยุ่งยาก เด็ก ๆ จะใช้มันติดตามข่าวสารใหม่ ๆ ได้อย่างรวดเร็ว ลองถ้าเด็ก ๆ ได้ใช้มันอย่างคล่องเมื่อไร อีก 20-30 ปีจากนี้หนังสือพิมพ์ที่เป็นกระดาษอาจต้องเปลี่ยนมาอยู่บนเว็บอย่างเดียวครับ Etoys เป็นตัวที่ผู้เขียนชอบมากที่สุดพอ ๆ กับ Tam Tam เลย เป็นรูปแบบที่ผู้เขียนจินตนาการและอยากได้มาตั้งแต่ยังเด็ก มันไม่ใช่แค่เกมครับ มันคือของเล่นที่เด็ก ๆ จะสร้างมัน และเล่นมันด้วยตัวเอง หรือทำแล้วส่งต่อให้เพื่อนเล่น (แนวคิดเหมือน Adobe Flash คือเป็น Media Authoring Tool) ยกตัวอย่างเช่น เราสามารถวาดรูปรถขึ้นมา แล้วสามารถเขียนโปรแกรมอย่างง่าย ๆ ให้รถมันวิ่งได้อย่างที่ต้องการ หรือสร้างเกมขึ้นมาท้าทายให้เพื่อนเล่น หรือเขียนอนิเมชั่นขึ้นมาได้เลย มันประกอบไปด้วยความคิดสร้างสรรค์ งานศิลปะ และการเขียนโปรแกรม เชื่อว่าจะมีผลงานดี ๆ จากเด็ก ๆ ทั่วโลกสร้างสรรค์จาก Etoys ซึ่งมีต้นแบบมาจากโปรแกรม Squeak (www.squeakland.org) ซึ่งเป็น Open Source หากสนใจสามารถดาวน์โหลด Squeak ไปใช้หรือแก้ไข Source Code เองได้ครับ

StandardViewer

Etoys ซอฟต์แวร์ที่ผู้เขียนชอบมากพอ ๆ กับ Tam Tam เสียอย่างเดียวที่ตัวเองเกิดมาเร็วไปหน่อย

ที่เหลือเป็นโปรแกรมเล่นเว็บอย่าง Web ใช้ Gecko Engine แบบเดียวกับ Mozilla Firefox อ่านหนังสืออย่าง Read เครื่องคิดเลข Calculadora โปรแกรมนี้ผู้เขียนหาส่วนที่เป็นฟังก์ชันคณิตศาสตร์ขั้นสูงไม่เจอ คาดว่าทำมาเฉพาะแต่เด็กเล็กเท่านั้น และสุดท้ายคือ SlideShow และยังมีส่วนสำหรับต่อไปยัง ClassicGnome ด้วย สำหรับเด็ก ๆ ที่ชอบคุ้ยชอบค้นลึกลงไปในเครื่อง

และตอนนี้ก็ได้เวลาแล้ว ที่เราจะลงลึกกับซอฟต์แวร์ที่เป็นไฮไลท์ของบทความนี้กันครับ กับ “TamTam”

TamTam

tamtamhome89

หน้าหลักของ TamTam แบ่งออกเป็น 4 โปรแกรมย่อย จากซ้าย miniTamTam, TamTam Edit, TamTam Jam และ synthLab

ตัวซอฟต์แวร์จะแบ่งออกเป็น 4 ส่วนด้วยกันครับ เริ่มกันจากซ้ายสุด miniTamTam

NEW-miniTAMTAM-8.8

miniTamTam

ส่วนนี้จะมีประโยชน์กับเด็กเล็กในการเรียนรู้ว่าสิ่งไหน สร้างเสียงอะไร โดยแบ่งหมวดหมู่ออกไปตั้งแต่เสียงของสัตว์ สิ่งของ เครื่องดนตรี ฯลฯ อยากรู้เสียงไหนเป็นเสียงอะไรก็ใช้ Mouse จิ้มได้เลย หรือใช้คีย์บอร์ดในการทริกเกอร์เสียงก็ได้ โดยคีย์บอร์ดจะแบ่งออกเป็น 2 ออคเตฟครับ ใช้แถวล่างสุด (z x c v b n m…) แทนลิ่มเปียโนสีขาว แถวกลาง (a s d f g h…) แทนลิ่มเปียโนสีดำ ดังนั้นปุ่มในแถวนี้จะมีเพียงบางปุ่มเท่านั้นที่ใช้งานได้ เช่นปุ่ม s, d แทนโน้ต C# และ D# ตามลำดับ ขณะที่เว้น a กับ f ไว้ เพื่อให้การเรียงของปุ่มเหมือนกับลิ่มเปียโนครับ ส่วนแถวบนสุด (qwerty) ใช้แทนลิ่มเปียโนสีขาวในออคเตฟถัดไป ผู้เขียนหาไม่เจอว่าเราสามารถเปลี่ยนออคเตฟได้หรือเปล่า เพราะไม่มีคู่มือ แต่คาดว่าน่าจะมี เพราะซอฟต์แวร์ดนตรีระดับอาชีพทั่วไป จะตั้งปุ่มบางปุ่มไว้สำหรับเปลี่ยนออคเตฟด้วย ถ้าไม่มีจริง ๆ ก็คงเป็นเพราะกลุ่มผู้พัฒนามีความเห็นว่า สำหรับเด็กแล้วมีแค่ 2 ออคเตฟก็เพียงพอแล้วครับ เพราะเท่าที่ลองเล่นดู 2 ออคเตฟก็น่าจะเพียงพอแล้ว ในการเล่นในระดับนี้

เสียงของ Tam Tam จะมีแหล่งกำเนิดอยู่ 2 แบบครับ คือบันทึกจากเสียงจริงมาเก็บไว้เป็น Wavetable (Sampling Synthesis) และสังเคราะห์ผ่านเอนจิ้นสังเคราะห์เสียงอย่าง FM (Frequency Modulation), VCO (Voltage Controlled Oscillator-Sine, Square, Sawtooth), Pluck (Physical Modeling) ฯลฯ จุดแตกต่างก็คือเสียงของ Wavetable จะด้อยคุณภาพลงอย่างชัดเจน เวลาที่เราเล่น Pitch ในระดับที่สูงหรือต่ำกว่าต้นฉบับมากเกินไป ซึ่งคนทำงานอาชีพนี้คงรู้ดีกันอยู่แล้ว ขณะที่การสังเคราะห์ด้วยเวฟฟอร์มอย่างง่าย เราจะเพิ่มหรือลด Pitch แค่ไหน มันก็ยังฟังลื่นอยู่ วิธีแก้ไขของระบบ Complex Wavetable ก็คือเราต้องบันทึกเสียงในระดับ Pitch ที่แตกต่างกันหลาย ๆ ระดับ เพื่อให้การเปลี่ยน Pitch ไม่มีผลต่อเสียงมากนัก เพราะเราจะใช้เสียงที่อยู่ใน Pitch ใกล้เคียงที่สุดแทน แต่เท่าที่ผู้เขียนฟังดู จะพบว่าเสียงทั้งหมด บันทึกมาที่ระดับ Pitch เดียว น่าจะเป็นเหตุผลว่า OLPC มีหน่วยความจำไม่มากพอที่จะเก็บเวฟฟอร์มขณะมหึมาเทียบเท่ากับที่นักดนตรีสตูดิโอใช้อยู่ได้ เวลาที่เรากดคีย์บอร์ด เราสามารถทำ Pitch Bend ด้วยการเลื่อนเมาส์ไปทางแนวขวางได้ด้วยครับ (ซ้าย-ต่ำ ขวา-สูง) หรือเพิ่มระดับความดังด้วยการเลื่อนเมาส์ในแนวตั้ง (ขึ้น-เพิ่ม ลง-ลด) ถ้าถามผู้เขียนถึงคุณภาพเสียง ก็คงต้องตอบว่าพอฟังได้ เพราะพอจะเข้าใจขีดจำกัดของเทคนิคการสร้างเสียงที่ใช้ และเด็ก ๆ น่าจะสนุกที่ได้เล่น มากกว่าจะตั้งใจฟังเสียงอย่างจริงจัง เพราะลำโพงของตัว OLPC เองก็น่าจะทำให้คุณภาพเสียงด้อยลงไปอีกครับ

สิ่งที่น่าสนุกอีกอย่างในส่วนนี้คือ จะมี Beat Box อยู่ทางขวาของหน้าจอ โดยเราสามารถเลือกประเภทของเสียงกลองได้ 4 แบบ เลือกความซับซ้อนของ Groove เลือกว่าจะให้ 1 บาร์มีกี่บีท เลือกความเร็ว ซึ่งฟังก์ชันทั้งหมดนี้ก็จะเหมือนกับ Groove Box ระดับอาชีพเลย เด็ก ๆ สามารถเปิดจังหวะพร้อมกับเล่นดนตรีแจมได้ หรือแม้แต่แจมกันหลาย ๆ เครื่อง ผู้เขียนแอบนึกอยู่ในใจว่าในอนาคตอาจมีเด็กบางคนที่มีพรสวรรค์ด้านดนตรีที่เริ่มต้นจาก Tam Tam ก็เป็นได้ เพราะมองย้อนกลับมาที่ตัวเอง ผู้เขียนเป็นเด็กที่เติบโตในเมือง กว่าจะได้มีโอกาสจับเครื่องดนตรีคีย์บอร์ดไฟฟ้า ก็มีอายุขึ้น 2 หลักแล้ว ไม่ต้องคิดถึงเด็ก ๆ ตามชนบทว่าจะมีกี่เปอร์เซ็นว่าจะได้มีโอกาส การที่เด็ก ๆ ได้เล่นดนตรี แม้จะเป็นเพียงรูปแบบง่าย ๆ ตั้งแต่เด็ก ๆ ผู้เขียนเชื่อลึก ๆ ว่าจะมีโอกาสในการพัฒนาระบบการฟัง Absolute หรือ Relative Pitch ในระดับต่อไปง่ายมาก ๆ โดยเฉพาะเด็กเล็ก ๆ 2-5 ขวบ ซึ่งการฟังเสียงได้ในระดับนี้ จะมีผลอย่างมากในการพัฒนาทักษะทางดนตรีครับ

การเล่นเสียงด้วยคีย์บอร์ดนี้ เป็นแบบ Polyphonic นะครับ เด็ก ๆ จึงเล่นดนตรีแจมกันด้วยเสียงประสานได้สูงสุด 3 โน้ตหรือ Triad ก็ถือว่ายังดีครับ ดีกว่าเป็นแบบ Monophonic เพียงอย่างเดียว และที่ผู้เขียนชอบมากอีกอย่างหนึ่งคือการแทนที่ทุกฟังก์ชัน ทุกพารามิเตอร์ด้วยสัญลักษณ์ทั้งหมด ยกตัวอย่างเช่น Tempo จะใช้รูปคนเดิน-วิ่ง ซึ่งเด็ก ๆ จะรู้ได้ด้วยสัญชาตญาณว่าแบบไหนเร็วกว่ากัน ส่วนรีเวิร์บจะใช้รูปบ้าน บ้านใหญ่ เสียงก้องมาก บ้านเล็กเสียงก้องน้อย น่ารักมาก ๆ ครับ

new-tamtam-90-flat

TamTam Edit

ส่วนที่สองคือ TamTam Edit ส่วนนี้น่าจะเหมาะกับเด็กโตขึ้นมาหน่อย ที่คิดอยากจะเริ่มแต่งเพลงเองบ้างแล้ว ลักษณะของ User Interface ทำได้ตามเทรนด์ปัจจุบันมากครับ คือรวมทุกอย่างไว้ในหน้าจอเดียว ดูน่ารักและเข้าใจง่ายมาก ๆ โดยเฉพาะคนที่ทำงานด้านนี้อยู่แล้ว มันมีลักษณะคล้าย MIDI Sequencer แบบ Piano Roll บันทึกได้สูงสุด 5 แทรค บันทึกออดิโอตรง ๆ ไม่ได้ แต่สามารถบันทึกเข้าไปเป็น Wavetable แล้วทริกเกอร์ด้วยการเขียนโน้ตแบบเสียงอื่น ๆ ได้ แหล่งเสียงที่จะใช้แต่งเพลงนั้น เป็นชุดเดียวกันกับส่วนแรกครับ ก็เพราะจริง ๆ แล้วมันคือโปรแกรมเดียวกันนั่นเอง

จุดที่ผู้เขียนชอบมาก ๆ คือฟังก์ชัน Notes Generator ที่มีไอคอนเป็นรูปลูกเต๋า เราสามารถเลือกได้ว่าจะให้อยู่ในบันไดเสียงอะไร การกระจาย-กระจุกของตัวโน้ตมากแค่ไหน แนวคิดการแต่งเพลงบน Sequencer จะแบ่งเพลงออกเป็น Page ครับ หนึ่ง Page มี 4 บาร์ โดยจะมีหน้า Page Properties ไว้ให้เราปรับเปลี่ยนพารามิเตอร์ของ Page นั้น ๆ แยกกันอิสระ

ส่วนที่ 3 TamTam Jam ปัจจุบันยังใช้ไม่ได้ เพราะต้องรอพัฒนาระบบ Mesh Network ให้มีเสถียรภาพเสียก่อน เราจะใช้ส่วนนี้ในการเล่นดนตรีแจมกันครับ

ส่วนสุดท้ายนั้น มีชื่อเรียกว่า SynthLab ครับ เป็นซอฟต์แวร์สังเคราะห์เสียง โดยใช้การจับโมดูลต่าง ๆ มาเชื่อมโยงเข้าด้วยกัน น่าจะเหมาะสมสำหรับเด็กโตขึ้นไป ตั้งแต่ประถมปลายไปจนถึงมัธยมปลายได้เลย เป็นส่วนที่ผู้เขียนชอบมากเช่นกัน เพราะเป็นคนชอบ Sound Synthesis มาก เพียงแต่นึกไม่ถึงว่าทีมงานผู้สร้างจะบรรจุส่วนนี้ลงไปด้วย เพราะส่วนตัวแล้ว กว่าจะได้ศึกษาเรื่องนี้ก็เป็นช่วงเรียนอุดมศึกษาตอนปลายแล้ว มองย้อนกลับมา เด็ก ๆ น่าจะได้ประโยชน์จากส่วนนี้อยู่มากเหมือนกัน (ถ้าได้ผู้สอนที่เข้าใจและสามารถอธิบายให้เด็ก ๆ เข้าใจได้) โดยเด็กจะเข้าใจแง่มุมของเสียงมากขึ้น เพราะมันเป็นเรื่องของการสังเคราะห์เสียง ฝึกการคิดเป็นระบบ เพราะเป็นรูปแบบ Flow Chart เด็ก ๆ จะเห็นที่มาที่ไปที่เกิดขึ้นในกระบวนการสร้างเสียง

ซอฟต์แวร์ตัวนี้ทำต้นแบบขึ้นมาบน Max/MSP ครับ (จะว่าไปแล้ว ต้องบอกว่าทั้งหมดของ Tam Tam มีการทดลองต้นแบบบน Max/MSP มาก่อน) การใช้งานมันเรียบง่ายมาก ๆ โดยเฉพาะคนที่ผ่านการเรียนรู้เครื่องมือสังเคราะห์เสียงมาจนทะลุ โมดูลแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือกลุ่มของ Sound Generator, Modulator และ Effect

new-tamtam-synthlab

synthLab สร้างต้นแบบบน Max/MSP

กลุ่ม Sound Generator ประกอบไปด้วย FM, Buzz (Pusle), VCO, Noise, Sound Sample จะใช้ Waveform ของ Tam Tam เอง รวมไปถึงสามารถบันทึกเสียงเข้าไปใช้เป็น Wavetable ได้โดยตรง, Voice เข้าใจว่าเป็น Complex Waveform ป้อนผ่าน Formant Filter เป็นเสียงสระ, Grain แนวคิดของ Granular Synthesis ก็ถูกนำมาใช้ด้วยแนะ

เราสามารถเข้าถึงพารามิเตอร์ของ Synth Engine หรือโมดูลในกลุ่มอื่นได้ โดยการคลิกขวาของโมดูลนั้นครับ จะมีปุ่มเลื่อนให้เราเลือกปรับได้พอสมควร คาดว่าเด็ก ๆ จะสนุกกับการเล่นในส่วนนี้มาก เพราะต่อให้ไม่เข้าใจอะไรเลย การปรับทุกอย่างย่อมมีผลต่อเสียงทั้งหมดครับ เพราะจะว่าไปแล้วการที่เด็กจะเข้าใจแนวคิดของ Sound Engine ทั้งหมดนั้น ต้องใช้ความรู้อย่างน้อยในระดับมัธยมปลายเลยครับ ซึ่งผู้เขียนมีความเห็นว่า “ความสนุกในการเล่นนั้น เป็นเรื่องสำคัญกว่า” อยู่แล้ว

ในกลุ่มของ Modulator นั้น คือฟังก์ชันที่เราจะใช้มันไปเปลี่ยนพารามิเตอร์ของโมดูลอื่น เช่นไปเปลี่ยน Gain หรือ Pitch ของ Synth Engine ให้ขึ้นลงไม่หยุดนิ่ง หรือเปลี่ยน Delay Time ของเอฟเฟกต์ ประกอบไปด้วยโมดูลอย่าง LFO-Low Frequency Oscillator เป็นคลื่นความถี่ต่ำมาก ๆ 0-20 Hz ตัวอย่างการนำไปใช้เช่น หากเรานำไป Modulate Pitch เราจะได้เสียงเอื้อนรัว ๆ, Random เป็นกราฟที่มีทิศทางสะเปะสะปะ ผลลัพธ์ที่ได้ก็จะคาดเดาไม่ได้ครับ, Envelope เป็นแบบ ADSR อย่างง่าย ๆ ที่นิยมกันทั่วไป และที่ชอบมากคือสองชุดหลังคือ Trackpad X-Y เราสามารถใช้ Trackpad หรือ Mouse เป็น Source ในการมอดดูเลทได้ ซึ่งจะช่วยให้การเล่นมี Expression มากขึ้นครับ

ในกลุ่มของ Effect จะช่วยเปลี่ยนเนื้อเสียงให้เปลี่ยนไปตามแต่ชนิด ซึ่งต่อให้เด็ก ๆ ไม่เข้าใจก็สนุกได้ง่าย ๆ เพราะผลลัพธ์ค่อนข้างชัดเจนครับ ประกอบด้วย Delay ตัวนี้จะช่วยหน่วงสัญญาณเสียงให้มาช้า หรืออาจ Feedback ย้อนกลับมาซ้ำได้อีก, Distortion ฟังจากเสียงแล้ว น่าจะเป็นโมเดลแบบ Waveshaping Function, Filter จะกรองย่านความเสียงที่ไม่ต้องการออกไป, Ring Modulator จะนำเสียงอินพุทไปทำการคูณกับ Simple Waveform ความถี่คงที่ ได้ผลลัพธ์ที่น่ารักไปอีกแบบ, Reverb สร้างเสียงก้อง เป็นโมเดลอย่างง่าย, Harmonizer จะช่วยสร้างย่านเสียงมาเพิ่มจากของเดิม ปกติเราจะคุ้นเคยกับ Harmonizer ที่มีหน่วยเป็น Semitone (Logarithmic) แต่อันนี้เป็นแบบเชิงเส้นครับ 1 คือไม่มีผลอะไร ขณะที่ 2 จะสร้างเสียงประสาน 1 ออคเตฟ แบบนี้น่าจะเข้าใจยากกว่าครับ

บทสรุปที่ยังไม่สมบูรณ์

ในระหว่างการทดลองเล่นนั้น ผู้เขียนพบเจอบั๊กที่จะว่าไม่แล้ว ไม่ควรจะเกิดขึ้นเลยครับ คือเราไม่สามารถเล่นเสียงไปพร้อมกับเปลี่ยนแปลงพารามิเตอร์จากการเลื่อนปุ่มตรง ๆ แบบที่นักดนตรีอย่างเรา ๆ ชอบทำกัน เครื่องจะค้างทันที เว้นแต่ว่าจะใช้ Modulator อย่าง Trackpad X-Y ในการเปลี่ยน เข้าใจว่าการใช้กับเครื่องจริง ๆ อาจทำงานได้ปกติ หรือไม่ก็เป็นบั๊กที่ควรต้องแก้อย่างรีบด่วนที่สุดเลยครับ

เสียงที่เราสร้างบน SynthLab สามารถจะเซฟเก็บไว้ได้ หรือนำไปใช้กับซีเควนเซอร์เพื่อเป็นแหล่งเสียงในการแต่งเพลงได้ด้วยครับ มันจึงมีความเป็นไปได้สูงที่อาจมีเด็กเก่งที่แต่งเพลงบน Tam Tam และได้ผลลัพธ์ออกมาเป็นเสียงใหม่ ๆ หรือรูปแบบของดนตรีใหม่ ๆ ได้เลย และแม้ว่า Tam Tam จะไม่สามารถ Render เสียงออกมาเป็นไฟล์อย่าง Wav หรือ MP3 ได้ แต่มันก็เป็นเครื่องมือการเรียนรู้ที่น่าติดตามสำหรับผู้ใหญ่อย่างเรา ๆ และเล่นสนุกสำหรับเด็ก ๆ จริง ๆ ครับ ผู้เขียนเองก็อยากทำและรอคอย Music Tools (+Toys) ใหม่ ๆ เพื่อสร้างแรงบันดาลใจในการเรียนรู้ดนตรีและศาสตร์อื่น ๆ ให้กับเด็กไทยหรือเด็กทั่วโลกเสมอ ว่าแต่ตอนนี้…ผู้เขียนขออนุญาตไปฟังเพื่อน ๆ ร้องคาราโอเกะแบบเพี้ยน ๆ ก่อนนะครับ สวัสดี

ตีพิมพ์โดย The Absolute Sound & Stage ฉบับ June 2007